ปตท.กางแผนลงทุนธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน 5 ปี ทุ่ม 10,000 ล้านบาทขยายปั๊มน้ำมันใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศสร้างแบรนด์รับ AEC ปั้นร้านกาแฟอเมซอนนอกปั๊มมากขึ้น
นายบุรณิน รัตนสมบัติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดขายปลีก หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แผนการลงทุนกลุ่มธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน ปตท.ระยะ 5 ปี (2558-2562) จะใช้งบลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 2,000-3,000 ล้านบาท เพื่อนำมาขยายปั๊มน้ำมันแห่งใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการปรับโฉมปั๊มเก่าให้มีธุรกิจบริการลูกค้าที่ครบวงจรมากขึ้น โดยรูปแบบใหม่จะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นในปี 2559
“ค้าปลีกน้ำมันที่ผ่านมาเราได้เป็นผู้นำในการทำปั๊มบริการแบบครบวงจรมาแล้ว 8-9 ปี และปี 2558 เป็นปีที่ ปตท.ต้องมีการทบทวนกลุ่มธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเพื่อปรับปรุงขีดความสามารถของตัวเองโดยเฉพาะการบริการ ทั้งร้านกาแฟอเมซอน ร้านอาหารใหม่ๆ ที่จะเป็นพันธมิตรแบบถาวร ไม่ใช่เพียงแต่ให้เช่าร้านอาหารเท่านั้น ซึ่งอาจใช้วิธีการซื้อแฟรนไชส์ใหม่เข้ามาเสริมเพื่อทำให้ลูกค้าได้รับบริการที่ครบวงจรที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งปีหน้าอเมซอนจะเปลี่ยนไปเยอะ” นายบุรณิน กล่าว
ทั้งนี้ การเติบโตของธุรกิจน้ำมันในอนาคตมี 3 ทางเลือก คือ 1. การขยายธุรกิจน้ำมันในต่างประเทศรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ปตท.ตั้งเป้าหมายจะขยายปั๊มน้ำมันในประเทศลาวเพิ่มขึ้นจาก 23 แห่ง เป็น 60 แห่ง กัมพูชา จาก 20 แห่ง เป็น 65 แห่ง และฟิลิปปินส์ จาก 85 แห่ง เป็น 150 แห่ง ส่วนพม่ายังอยู่ในระหว่างการศึกษาเนื่องจากยังมีข้อจำกัดในการเปิดเสรีการค้า แต่ถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการขยายธุรกิจ
2. การลงทุนในธุรกิจค้าปลีกที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non Oil) โดยเฉพาะร้านกาแฟอเมซอนที่ขณะนี้ได้เริ่มไปขยายสาขานอกปั๊มน้ำมัน สัดส่วนของร้านอเมซอนจะเพิ่มขึ้น 20% ปัจจุบันมีสาขาอยู่ 1,250 แห่ง ภายในสิ้นปี 2558 จะมี 1,400 แห่ง โดยในจำนวนดังกล่าว 400 แห่งจะเป็นสาขาที่อยู่นอกปั๊มน้ำมัน 3. การนำระบบดิจิตอลมาปรับใช้กับธุรกิจที่มีอยู่เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น เช่น การขยายสิทธิประโยชน์ของบัตรบลู การ์ด ที่ตอนนี้มีสมาชิกถือบัตรอยู่ 1 ล้านใบ ไปใช้กับธุรกิจที่อยู่นอกปั๊มน้ำมัน
ปัจจุบัน ปตท.มีปั๊มน้ำมันภายในประเทศอยู่ประมาณ 1,400 แห่ง ในปี 2558 ตั้งเป้าหมายจะเปิดใหม่เพิ่ม 65 แห่ง และมีแผนที่จะปิดลง 30 แห่งเนื่องจากหมดสัญญาเช่าพื้นที่ และไม่ได้รับการต่อสัญญา โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งจะไปเน้นการขยายสาขาที่ใหญ่ขึ้นและอยู่ในถนนเส้นทางหลักมากกว่า เนื่องจากภายในเมืองมีข้อจำกัดในเรื่องของที่ดินแพงมากขึ้น โดยยอดขายน้ำมันของ ปตท. 5 เดือนแรกปีนี้ทั้งกลุ่มเบนซินและดีเซลเติบโต 5% มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็น 38% เนื่องจากส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ลดลง และการปรับโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ส่งผลให้ผู้ใช้แอลพีจีขนส่งกลับมาใช้น้ำมันมากขึ้น โดยพบว่ายอดจำหน่ายเฉพาะน้ำมันกลุ่มเบนซินโตถึง 14% ขณะที่พบว่ายอดจำหน่ายขายแอลพีจีลดลงไป 5.6%