การดำเนินชีวิตที่เร่งรีบ แต่ยังใส่ใจเรื่องสุขภาพของผู้บริโภคยุคใหม่ ตอกย้ำถึงความเชื่อในคุณประโยชน์ของ “นม” และบ่งชี้ถึงโอกาสในการเพิ่มอัตราการบริโภคนมให้สูงขึ้น
ผู้บริโภคทั่วโลกยังคงมีทัศนคติที่ดีต่อประโยชน์ของนม และตระหนักถึงคุณค่าทางโภชนาการของนม หากแต่รู้สึกว่าผลิตภัณฑ์ยังขาดความหลากหลาย และความไม่สะดวกในการบริโภค จึงทำให้ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบันและความคาดหวังของพวกเขา
ข้อสรุปข้างต้นนี้นำมาจากการสำรวจผู้บริโภคระดับนานาชาติเมื่อช่วงต้นปีนี้ ซึ่งจัดทำและเผยแพร่โดย เต็ดตรา แพ้ค ในรายงาน แดรี่ อินเด็กซ์ ฉบับที่ 8 ชี้ให้เห็นว่าผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมจำเป็นต้องนำเสนอนวัตกรรม รวมไปถึงการเลือกใช้แนวคิดใหม่ๆ ในการสื่อสารและการทำการตลาด เพื่อกระตุ้นมุมมองใหม่ในการบริโภคนมให้แก่ผู้บริโภคในทุกช่วงอายุ
เป็นเวลาหลายปีแล้วที่อุตสาหกรรมอาหารรายงานถึงอัตราการเพิ่มของความต้องการของกลุ่มประชากรรุ่นใหม่ ซึ่งหันมาให้ความสำคัญต่อสุขภาพของตนมากขึ้น พร้อมๆ ไปกับการดำเนินชีวิตอย่างคล่องตัว ต่อการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ หากแต่ต้องสะดวกต่อการรับประทาน ผู้บริโภคยังคงมองว่า “นม” เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีคุณค่าทางอาหารสูง เป็นแหล่งของแคลเซียม และมีรสชาติอร่อย อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตจำเป็นต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์นมเหมาะกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป
มิสเตอร์เดนนิส ยอนสัน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มบริษัทเต็ดตรา แพ้ค ให้ความคิดเห็นว่า “หัวใจสำคัญของการส่งเสริมการบริโภคนมในทุกๆ ภูมิภาค คือ การสร้างและเชื่อมโยงความรู้สึกที่แปลกใหม่ให้กับการดื่มนม การคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ตลอดจนการพัฒนาแคมเปญการสื่อสารที่ช่วยให้ผู้บริโภคสัมผัสถึงประสบการณ์ที่ดีและพิเศษจากการดื่มนม ว่านมนั้นอร่อย สะดวก ไม่ยุ่งยาก และเหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย
รายงานฉบับนี้ยังนำเสนอตัวอย่างของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมที่สามารถนำเสนอเครื่องดื่มชนิดใหม่สู่ท้องตลาดได้สำเร็จ รวมไปถึงการนำเสนอเทรนด์ด้านผลิตภัณฑ์ระดับโลกถึง 4 เทรนด์ด้วยกัน อันได้แก่ การนำเสนอนมในฐานะเครื่องดื่มที่อร่อยและมีประโยชน์ การปรับผลิตภัณฑ์นมให้เป็นเครื่องดื่มที่ย่อยง่ายหรือมีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น การพัฒนาเครื่องดื่มซึ่งบริโภคได้สะดวกขณะทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างวันหรือเป็นของว่าง และนมสดแบบออร์แกนิกหรือนมที่ผลิตด้วยกระบวนการผลิตแบบธรรมชาติ
นอกจากนั้น รายงานฉบับนี้ยังแสดงให้เห็นว่า การใช้ช่องทางการสื่อสารแบบใหม่ สามารถช่วยพัฒนาแคมเปญทางการตลาดที่ช่วยให้ผู้บริโภคตระหนักถึงคุณค่าทางโภชนาการของนม พร้อมแฝงปัจจัยความเชื่อมโยงด้านอารมณ์ความรู้สึกที่นำไปสู่การกระตุ้นการเพิ่มการบริโภค อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานฉบับล่าสุดนี้ได้ที่ www.tetrapak.com/dairyindex