xs
xsm
sm
md
lg

“วัวแดง” ขึ้นราคา-รุก AEC ปั้นแบรนด์ใหม่ดึงวัยรุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“นภดล ตันวิเชียร” รองผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)
ASTVผู้จัดการรายวัน - อ.ส.ค.เผยตลาดส่งออกกัมพูชา-ลาวเพิ่มขึ้น 40% ดันรายได้ปี 57 พุ่งกว่า 7 พันล้านบาท สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ มั่นใจภูมิภาคอาเซียนประสบปัญหานมขาดตลาดหลังเปิดเออีซีภายใน 3-5 ปี เหตุความต้องการเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว แจงนโยบายปรับราคานมส่งผลดีกระตุ้นตลาดโตขึ้นหลังไม่มีการปรับราคามากว่า 5 ปี เตรียมขึ้นราคา 3-5% ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ม.ค. 58 พร้อมเปิดตัวนมเปรี้ยวและโยเกิร์ตปลายไตรมาสที่ 2 ทำรายได้รวม 8 พันล้านบาทในปี 58

นายนภดล ตันวิเชียร รองผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ทำการแทนผู้อำนวยการ อ.ส.ค. เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลประกาศนโยบายปรับราคาน้ำนมดิบเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 57 นั้น มั่นใจว่าจะส่งผลดีต่อการกระตุ้นตลาดนมพร้อมดื่ม (ยูเอชที) ให้เติบโตยิ่งขึ้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์นมเป็นสินค้าที่ไม่ได้รับการปรับราคามานานประมาณ 5-6 ปีแล้ว ทั้งยังถือเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของ อ.ส.ค.ได้เริ่มปรับราคานมพร้อมดื่มยูเอชทีตรา “ไทย-เดนมาร์ค” ประมาณ 3-5% เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

ในปี 2557 อ.ส.ค.สามารถทำยอดขายนมยูเอชทีตรา “ไทย-เดนมาร์ค” ได้ 7,120 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 7,080 ล้านบาท ประมาณ 10% เหตุผลส่วนหนึ่งคือการทำตลาดและประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศมากขึ้น จนมียอดส่งออกประมาณ 600-700 ล้านบาท เติบโตขึ้นจาก 400 ล้านบาทในปี 2556 ประมาณ 40% โดยคาดว่าในปี 2558 จะเพิ่มขึ้นเป็น 800 ล้านบาท ส่งผลให้มียอดขายรวมเพิ่มเป็น 8,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ก่อนมีการปรับราคาคือ 7,800 ล้านบาท

“สำหรับตลาดส่งออกของ อ.ส.ค.ในปัจจุบันคือกัมพูชาซึ่งมียอดขายเป็นอันดับ 1 ประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี รองลงมาคือลาวประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถือเป็นผู้นำตลาดเช่นกัน โดยขณะนี้กำลังเริ่มทำการตลาดในประเทศเวียดนามและพม่าเพิ่มขึ้น”

ในปี 2558 อ.ส.ค.ตั้งงบประมาณการตลาดประมาณ 200 ล้านบาทใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ทั้งยังเตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่คือนมเปรี้ยวและโยเกิร์ตในช่วงปลายไตรมาสที่สอง โดยคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ให้ อ.ส.ค.ประมาณ 5% จากปัจจุบันที่ อ.ส.ค.มีส่วนแบ่งในตลาดนมพื้นฐาน หรือนมพร้อมดื่มยูเอชทีในประเทศไทยประมาณ 30% ถือเป็นอันดับ 2 รองจาก “โฟร์โมสต์” ที่มีสัดส่วนประมาณ 40% จากมูลค่าตลาดประมาณ 2 หมื่นล้านบาท มีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 3%

นายนพดลกล่าวด้วยว่า อ.ส.ค.ใช้ช่องทางจำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรด 55% และร้านค้าทั่วไป 45% โดยฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการที่มีความรู้และมีกำลังซื้อสูง โดยล่าสุด อ.ส.ค.ได้มีการปรับบรรจุภัณฑ์ใหม่ให้มีความทันสมัยมากขึ้นในรอบ 10 ปี นอกจากนั้นกำลังอยู่ในระหว่างศึกษาแนวคิดการเปิดตัวผลิตภัณฑ์แบรนด์ใหม่ (Second Brand) เพื่อเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยต้องพิจารณาถึงเรื่องกำลังการผลิตเป็นหลัก เนื่องจากปัจจุบันกำลังประสบปัญหาน้ำนมดิบขาดตลาดและมีสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการวันละประมาณ 570 ตัน โดย อ.ส.ค.มีกำลังการผลิตได้เพียงวันละ 540 ตัน ในขณะที่เครื่องจักรมีศักยภาพการผลิตได้ถึงวันละ 700 ตัน

“อ.ส.ค.กำลังเร่งพัฒนาให้ความรู้และส่งเสริมเกษตรกรสามารถเลี้ยงโคนมที่ให้ปริมาณน้ำนมดิบเพียงพอต่อความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้ว่าปัจจุบันคนไทยยังบริโภคนมเฉลี่ยคนละประมาณ 20 ลิตรต่อปีซึ่งถือว่ายังอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก แต่มั่นใจว่าหลังจากเปิดเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีแล้ว ภูมิภาคอาเซียนจะต้องประสบปัญหาน้ำนมดิบขาดตลาดภายใน 3-5 ปีอย่างแน่นอน เพราะความต้องการบริโภคจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าในขณะที่ประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน”

ปัจจุบัน อ.ส.ค.มีสหกรณ์โคนมเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมประมาณ 40 แห่ง ให้การส่งเสริมเกษตรกรประมาณ 2 พันราย เลี้ยงโคนมประมาณ 4-5 หมื่นตัว คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของเกษตรกรและโคนมทั้งประเทศ โดยโคนมแต่ละตัวให้ผลผลิตน้ำนมดิบประมาณ 13-14 กิโลกรัมต่อวัน ขณะที่ราคาน้ำนมดิบในตลาดประมาณ 19 บาทต่อกิโลกรัมซึ่งถือเป็นราคาที่เกษตรกรส่วนใหญ่ต่างพอใจ เพราะต้นทุนในการผลิตอยู่ที่ประมาณ 15-16 บาทต่อกิโลกรัม

นายนพดลกล่าวด้วยว่า อ.ส.ค.มีแนวคิดที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรภายในพื้นที่ฟาร์มโคนม อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ประมาณ 2.7 พันไร่ อย่างจริงจังมากขึ้น หลังจากช่วงทดลองตลาดได้ผลตอบรับอย่างน่าพอใจ มีนักท่องเที่ยวเข้าชมพื้นที่ประมาณ 300-500 คนในช่วงวันหยุดและเทศกาล โดยยังเตรียมผลักดันโครงการ “ที่พักริมทาง” อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี มูลค่าโครงการประมาณ 700-800 ล้านบาท ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมภายในอนาคตอันใกล้




กำลังโหลดความคิดเห็น