xs
xsm
sm
md
lg

ไทยแอร์เอเชียมั่นใจมาตรฐานไร้ปัญหา ICAO ประกาศยึด”อู่ตะเภา”ฮับ”ใหม่บุกตลาดจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย และบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) ) หรือ AAV
ไทยแอร์เอเชีย แจงปัญหาธงแดง ICAO ไม่กระทบธุรกิจ ชี้โลว์คอสต์บินแค่ในภูมิภาค แม้จะถูกสุ่มตรวจถี่ขึ้น แต่ผ่านฉลุย เร่งยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย IOSA ของ IATA ใช้ใบรับรองเป็นใบเบิกทางรับบพ.ตรวจใบอนุญาตใหม่ ยอมรับปัญหา SSC เหตุบพ.ออกใบอนุญาตให้สายการบินมากเกินความจำเป็น มีบินจริงไม่ถึง 10 สาย “ธรรศพลฐ์”ประกาสยึดอู่ตะเภาเป็นฮับเตรียมเปิดบินจีน 3 เส้นทางใหม่ มั่นใจครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด สนองนโยบายอู่สนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3



นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย และบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) ) หรือ AAV เปิดเผยว่า กรณีองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ติดธงแดงประเทศไทยนั้น เป็นสิ่งที่ ICAO ต้องทำอยู่แล้วตามขั้นตอนปกติ เพราะหลังจากให้เวลาแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concern: SSC) 90 วัน แต่ กรมการบินพลเรือน (บพ.) ของไทย ทำไม่เสร็จตามกำหนด ไม่มีอะไรน่าตกใจ และ ICAO ยังไม่ได้ลดเกรดไทยหรือลดจาก Category 1 ไปอยู่ที่ Category 2 เพียงแต่ปักธงแดงเพื่อแสดงให้เห็นว่าไทยต้องเร่งแก้ไขเรื่องบกพร่องโดยเร่งด่วน ดังนั้นสายการบินของไทยยังคงทำการบินได้ตามปกติ โดยประเทศที่อาจจะต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและเกาหลี ซึ่งไทยแอร์เอเชีย ไม่ได้ให้บริการเพราะเป็นสายการบินราคาประหยัด บินในรัศมีไม่เกิน 4 ชม. ส่วนประเทศในอาเซียนยังคงทำการบินได้เช่นเดิม

โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งมีเส้นทางบินมากที่สุด และมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 20 % ยังคงทำการบินได้ตามปกติ และภายในปีนี้จีนได้อนุมัติเพิ่มอีก 3 เส้นทางบิน โดยจะเปิดฮับเพิ่มที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาโดยจะใช้เป็นฐานปฏิบัติการบินไปยังจีน 3 เส้นทางบินใหม่แบบเที่ยวบินประจำ โดยเปิด 2 เส้นทางในปีนี้ และต้นปี 2559 อีก 1 เส้นทาง ซึ่งมั่นใจว่าเมื่อเปิดบินจะสร้างความคึกคักให้สนามบินอู่ตะเภาแน่นอนและจะเป็นผู้ครองส่วนแบ่งการ ตลาดมากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีแผนจะเปิดเส้นทางบินดอนเมือง-บังกาลอร์ อินเดีย อีกด้วย ซึ่งถือเป็นการกลับไปบุกตลาดใหญ่อย่างอินเดียอีกครั้ง หลังจากที่เคยเปิดบินหลายเส้นทางเมื่อ 4 ปีก่อนแต่ขาดทุน เนื่องจากมีปัญหาการทำตลาด และเอเย่นต์ โดยตลาดอินเดียจะช่วยกระจายความเสี่ยงในตลาดอื่น

ผู้สื่อข่าวถามว่า สาเหตุที่ ICAO ให้ไทยสอบตก และติดธงแดงประเทศไทยเป็นเพราะ บพ.อนุมัติสายการบิน ถึง 41 แห่งมากเกินความจำเป็นหรือไม่ นายธรรศพลฐ์กล่าวว่า เป็นคำถามที่ถูกต้องทั้งหมด โดยขณะนี้มีสายการบินที่ให้บริการอยู่ไม่เกิน 10 สาย ซึ่งกรณีที่บพ.ยังติด SSC นั้น ส่งผลให้ถูกสุ่มตรวจสอบการปฏิบัติการบำรุงรักษาอากาศยานในลานจอด (Ramp Inspection) ถี่มากขึ้นจากเดิมเฉลี่ยประเทศละ 2-3 เดือนต่อครั้ง เพิ่มเป็นแทบทุกสัปดาห์โดยเฉพาะจีน ซึ่งได้เตรียมความพร้อมของทั้งลูกเรือ ฝ่ายช่าง ความรู้ต่าง ๆซึ่งลูกเรือจะถูกสอบสัมภาษณ์ตามคู่มือด้วย ซึ่งไม่มีข้อใดต้องแก้ไข นอกจากนี้ยังเข้ามาขอตรวจสอบที่ฐานปฏิบัติการบินหลักที่กรุงเทพอีกด้วย ดังนั้นในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของบริษัทนั้น ในภูมิภาคนี้ มีการสุ่มตรวจตลอดอยู่แล้วจึงไม่ค่อยกังวลมากนัก

โดยบริษัทอยู่ระหว่างการยกระดับการจัดการมาตรฐานความปลอดภัยของสายการบิน ตามมาตรฐานความปลอดภัยของสมาคม การเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA เรียกว่า IOSA (Operational Safety Audit) ซึ่งเริ่มมา 2 เดือนแล้วคาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 3 เดือนข้างหน้า และได้ใบรับรองจาก IATA ซึ่งถือเป็นใบรับรองมาตรฐานความปลอดภัยที่ครอบคลุมในระดับเดียวกับที่ บพ.ได้มีการปรับปรุงใหม่ และจะพอดีกับที่บพ.ได้ปรับปรุง คู่มือ ฝึกอบรมบุคลากรตามมาตรฐาน ICAO เสร็จ และเริ่มขั้นตอนการตรวจสอบสายการบิน (Re- certification) ออกใบรับรองการบิน (AOC) ให้ใหม่ ประมาณเดือนก.ย.-ต.ค. ซึ่งทั่วไปจะใช้เวลาในการตรวจสอบสายการบิน เสร็จเกือบปี แต่หวังว่า บพ.จะเร่งปลด SSC ให้ได้ในปีนี้

สำหรับแผนรับเครื่องบินปีนี้ 5 ลำ สิ้นปีจะมีทั้งสิ้น 45 ลำ เป้าหมายจำนวนผู้โดยสารที่ 14.5 ล้านคน ยังคงเหมือนเดิม แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2 /58 เป็นไปในทิศทางที่ดีตามเป้าหมาย ส่วนไตรมาส 3-58 แม้จะมียังมีเรื่อง ICAO และ เชื้อไวรัส”เมอร์ส” แต่รัฐบาลไทยมีมาตรการควบคุมที่ดีและรวดเร็ว จึงไม่น่าจะมีผลกระทบอีกทั้งไตรมาส 3 เป็นช่วงLow Season อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) ไม่สูงนัก น่าจะรักษาระดับไว้ได้ ส่วนไตรมาส 4/58 หากไม่มีปัจจัยเพิ่มจะเป็นช่วงที่จะทำกำไรได้ดีที่สุดและทำให้ผลประกอบการทั้งปีออกมาตามเป้าหมาย

ส่วน กรณีที่สายการบินไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำเป็นต้องระงับการให้บริการชั่วคราว ในเส้นทางกรุงเทพฯ-ซัปโปโร ซึ่งมีเที่ยวบินตรงทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2558 เป็นต้นไปนั้น ไม่ส่งผลกระทบใดๆต่อผลประกอบการของ AAV เนื่องจาก AAV ไม่ได้ถือหุ้นใน ไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์และโครงสร้างแยกกันชัดเจน โดยเส้นทางซับโปโรมีรายได้คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 10 % ของไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ และขณะนี้กำลังเจรจากับจีนเพื่อขอทำการบินแบบเช่าเหมาลำ (Charter Flight) แทนเส้นทางซับโปโร โดยยอมรับว่า เส้นทางบินซับโปโรนั้น ได้ทำการขออนุญาตทำการบินช่วงที่ ICAO เข้ามาตรวจสอบ บพ.พอดีทำให้ได้รับใบอนุญาตจากกรมการบินพลเรือนของประเทศญี่ปุ่น (JCAB) แบบเดือนต่อเดือนไม่ได้อนุญาตระยะยาว ทำให้ยากต่อการบริหารจัดการ ดังนั้นจึงเห็นควรหยุดบินก่อนจนกว่า บพ.จะแก้ไขและปลด SSC ได้ จึงกลับมาเปิดบินซับโปโรอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น