“ไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์” แจ้งระงับบินกรุงเทพ-ซัปโปโรชั่วคราว ตั้งแต่ 1 ส.ค. นี้ อ้างเหตุ บพ.ไทยยังสอบไม่ผ่านมาตรฐาน ICAO เปิดโอกาสผู้โดยสารเปลี่ยนเส้นทางบินหรือขอคืนเงินได้ ด้าน “คมนาคม”เร่งปรับปรุงร่างพ.ร.บ.เดินอากาศใหม่ทั้งฉบับ 19 หมวด 494 มาตรา เน้นให้เป็นไปตามข้อกำหนด ICAO และมาตรฐานสากล รองรับการปรับโครงสร้างและบทบาทหน้าที่กรมการบินพลเรือนใหม่ คาดสรุปในส.ค. เพื่อเสนอครม.และ สนช.ต่อไป “ประจิน”สั่ง บพ. เตรียมพร้อมรับ FAA ตรวจ กลางก.ค.นี้
นายนัตดา บุรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทย เเอร์เอเชีย เอ็กซ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัญหาทางด้านสถานการณ์การบินของประเทศไทยกับทางองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ยังไม่กลับมาสู่สภาวะปกติ ทำให้ ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ จำเป็นต้องระงับการให้บริการชั่วคราว ในเส้นทางกรุงเทพฯ-ซัปโปโร ซึ่งมีเที่ยวบินตรงทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2558 เป็นต้นไป โดยเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่ได้รับผลกระทบเส้นทางเดียว โดยผู้โดยสารที่สำรองที่นั่งล่วงหน้า เเละมีกำหนดเดินทางกรุงเทพฯ-ซัปโปโร ตั้งเเต่วันที่ 31ก.ค.2558 เเละซัปโปโร-กรุงเทพฯ ตั้งเเต่วันที่ 1 ส.ค. 2558 เป็นต้นไป
โดยปัจจุบันบริษัทฯดำเนินการขออนุญาตทำการบินเป็นการชั่วคราวกับทางกรมการบินพลเรือนของประเทศญี่ปุ่น (JCAB) เส้นทางบินจากกรุงเทพฯ ท่าอากาศยานดอนเมือง (DMK) ประเทศไทย สู่ เมืองซัปโปโร ท่าอากาศยานนิวชิโตเซะ(CTS) ประเทศญี่ปุ่น วันละ 1เที่ยวบิน โดยได้รับความร่วมมือผ่านทางสายการบินแอร์เอเชีย เอ็กซ์ (มาเลเซีย) ที่เข้ามาให้บริการแทนตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2558 เป็นต้นมา เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้โดยสารจากสถานการณ์ICAO
ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ สู่โตเกียวเเละโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เเละสู่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ยังให้บริการทุกเที่ยวบินตามปกติ ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เนื่องจากเป็นเป็นเส้นทางที่ไทยเเอร์เอเชีย เอ็กซ์ ได้รับอนุญาตการบินประจำก่อนเกิดข้อปัญหากรณีICAO ทั้งนี้ ซัปโปโรเป็นเมืองที่มีศักยภาพสูง สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ซึ่งเเผนในช่วงครึ่งปีหลังของไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ มีความจำเป็นต้องชะลอการเปิดเส้นทางบินใหม่สู่ญี่ปุ่น โดยขณะนี้ได้มีการศึกษาเส้นทางบินสู่ประเทศอื่นๆ ไว้ด้วย โดยเป็นเส้นทางที่เครื่องบินเเอร์บัส เอ 330 สามารถให้บริการได้ ในระยะ 6-9 ชั่วโมง
สำหรับ ผู้โดยสารที่มีกำหนดการเดินทางในเที่ยวบิน XJ620 กรุงเทพฯ - ซัปโปโร ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. 2558 และเที่ยวบิน XJ621 ซัปโปโร-กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2558 เป็นต้นไปนั้น มีทางเลือกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้แก่ 1.เปลี่ยนแปลงการเดินทางให้เร็วขึ้น 2. เปลี่ยนแปลงเส้นทางบินไปและกลับ ยังโตเกียว หรือโอซาก้า โดยสายการบินไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ (เฉพาะเที่ยวบิน XJ) ในช่วงเวลา 14วันก่อนหรือหลังตามกำหนดเดินทางเดิม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้จำนวน 1 ครั้ง 3. การเก็บยอดวงเงินไว้ใช้สำหรับการสำรองที่นั่งในครั้งต่อไประยะเวลา 180 วัน (Credit Shell) 4. การคืนเงินเต็มจำนวน (Full Refund) ผ่านช่องทางชำระค่าบัตรโดยสารที่ท่านได้ทำการสำรองไว้
“คมนาคม”เร่งปรับปรุงร่างพ.ร.บ.เดินอากาศ 19 หมวด
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงร่างพ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ...(ทั้งฉบับ) จากพ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อปรับปรุงพัฒนากฎหมายให้มีความทันสมัยและเป็นสากล จากที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้เข้ามาตรวจสอบ กรมการบินพลเรือน (บพ.) โดยการปรับแก้กฎหมาย จะพิจารณา 4 ประเด็นหลัก คือ ศึกษาข้อกฎหมายจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย มาเป็นแนวทาง ,กฎหมายที่เป็นอนุผนวกของกฎหมายสากลระหว่างประเทศ ,จากร่างกฎหมายที่กฤษฎีกาได้ตีความและให้คำแนะนำไว้แล้ว และกฎหมายที่อยู่ในพ.ร.บ.เดินอากาศ 2497 เดิมที่ยังสามารถใช้ได้ครอบคลุมไปในอนาคต โดยการปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของ ICAO สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และให้สอดคล้องกับรูปแบบของโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของ บพ.ที่จะปรับปรุงใหม่
นอกจากนี้ การปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.การเดินอากาศใหม่นั้น จะต้องสามารถใช้บังคับได้ทั้งผู้ประกอบการภายในประเทศและต่างประเทศ โดยจะเน้นในเรื่องความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัย และมาตรฐาน โดยจะมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ3-4 ชุด โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยให้ความเห็น โดยกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินงานประมาณ 30 วัน โดยคณะกรรมการฯจะประชุมครั้งที่ 2 ในช่วงต้นเดือนก.ค.นี้และครั้งที่ 3 ช่วงปลายเดือนก.ค.ซึ่งคาดว่าจะสรุปรายละเอียดได้ จากนั้นจะส่งเรื่องไปที่กฤษฎีกาเพื่อตรวจสอบร่าง และเนื้อหาสาระสำคัญ จากนั้นคาดว่า คณะกรรมการฯจะประชุมครั้งที่ 4 ประมาณกลางเดือนส.ค.เพื่อสรุปและให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.
จากนั้นจะนำเสนอครม.เพื่อขออนุมัติหลักการและเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป โดยกรอบเวลาอาจปรับเปลี่ยนได้ขึ้นกับการพิจารณาข้อกฎหมายของคณะอนุกรรมการฯ ว่าจะมีประเด็นเพิ่มเติมและประเด็นที่กระทบต่อแผนงานหรือไม่
“เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้แสนอการปรับปรุงโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ของกรมการบินพลเรือนต่อนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เพื่อพิจารณาใช้มาตรา 44 ซึ่งคาดว่าจะเสนอครม.ได้ในสัปดาห์หน้า ซึ่งหากนายกฯเห็นชอบก็จะเดินหน้าดำเนินงานโครงสร้างด้านการบินใหม่ไปพรางก่อนจนถึงวันที่ 30 ก.ย.58
แต่หากการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.เสร็จก่อนจะยกเลิกการใช้มาตรา 44 และใช้กฎหมายนี้แทน ซึ่งตอนนี้วางแผนไว้ 2 แนวทางเพราะไม่ทราบว่า การปรับปรุงพ.ร.บ. จะใช้เวลาแค่ไหน”พล.อ.อ.ประจินกล่าว
นายเสรี จิตต์โสภา รองอธิบดีกรมการบินพลเรือน กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.การเดินอากาศฉบับปรับปรุงใหม่จะมี 19 หมวด 494 มาตรา โดยเป็นร่างพ.ร.บ.ที่จัดทำมาจาก 4 ส่วน คือ กฎหมายเดิมของ บพ.ที่มีการใช้บังคับที่เหมาะสมอยู่แล้ว จากร่างกฎหมายที่กฤษฎีกาได้ผ่านการพิจารณารับฟังความคิดเห็นแล้ว รวมกับภาคผนวกที่เป็นสากล
โดยทั้งหมดจะเป็นรูปแบบใหม่ที่จะมีการบรรจุเฉพาะสาระสำคัญในร่างพ.ร.บ.ฉบับปรับปรุงนี้ ส่วนรายละเอียดต่างๆ จะมีการกำหนดไว้ในกฎหมายรอง ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.ให้เป็นไปตามภาคผนวกของICAO สะดวกมากขึ้น คาดว่าจะใช้เวลาพัฒนาปรับปรุงประมาณ 30 วัน จะสรุปเสนอกฤษฎีกาได้
โดยคณะอนุกรรมการฯ 4 ชุด จะมีผู้แทนด้านกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อช่วยกันตรวจสอบกลั่นกรองร่างกฎหมายก่อนส่งให้กฤษฎีกาตรวจสอบ ได้แก่ สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และสมาคมนักบินไทย
อย่างไรก็ตามสภาพปัญหาที่ ICAO ตรวจสอบประเทศไทยพบข้อบกพร่องที่เป็นกฎหมายหลัก (CE-1) 22 ข้อบกพร่องแบ่งเป็น ด้าน LEG (กฎหมายและกฎระเบียบ) จำนวน 9 ข้อ ,ด้าน ORG (องค์กร) จำนวน 1 ข้อ, ด้าน OPS (การปฏิบัติการบิน) จำนวน 1 ข้อ, ด้าน AIG (การสอบสวนอุบัติเหตุอากาศยาน) จำนวน 9 ข้อ , ด้าน ANS (การให้บริการการเดินอากาศ) จำนวน 2 ข้อ
สั่งบพ.เตรียมพร้อมรับ FAA ตรวจกลางก.ค.นี้
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ได้หารือถึงผลจากที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคมพร้อมคณะเดินทางไปพบประธาน ICAO ที่แคนนาดาและ รองประธานสำนักบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (FAA) ที่วอชิงตัน ซึ่งทั้ง ICAO และ FAA เข้าใจแผนการแก้ปัญหา โดยได้ให้คำแนะนำในเรื่องจัดทำคู่มือ (FOIM : Flight Operations Inspector Manual และ AOCR: AIR OPERATOR CERTIFICATE REQUIREMENTS) โดย ICAO จะจัดทีมงานผู้เชี่ยวชาญมาช่วย โดยให้เวลา บพ. 3 วันในการปรับปรุงแผนงาน เพื่อแก้ปัญหา เรื่องจำนวนบุคลากรและการอบรมซึ่งเป็นข้อขัดข้อง ในการ Re- certification ออกใบรับรองการบิน (AOC) ให้ทั้ง 28 สายการบินเพื่อให้สอดคล้องกับคำแนะนำของ ICAO ซึ่งตามแผนจะสรรหา 13 คน มาช่วยในเรื่องการแก้ไขข้อบกร่องที่มีนัยสำคัญ (SSC) และอีก 48 คนเข้ามาช่วยในเรื่องการปรับโครงสร้าง บพ.
นอกจากนี้จะต้องเตรียมความพร้อมกรณีที่ FAA จะเข้ามาตรวจสอบประมาณกลางเดือนก.ค.นี้ ใช้เวลา 5 วัน และให้แก้ไขใน 65 วัน ส่วนวันที่ 25 มิ.ย.นี้ทาง สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป หรือ เอียซ่า (EASA) กำหนดจะประกาศผล คาดว่าจะมี 2 แนวทางคือ 1. ไม่ประกาศมาตรการเพิ่มเติมโดยยึดตามกรอบ ICAO หรือ 2. ส่งทีมเข้ามาตรวจสอบเพิ่มเติม เหมือน FAA
“ตอนนี้ต้องเร่งเพราะ คู่มือทำไม่เสร็จ บุคลากรไม่ครบ และการฝึกอบรมไม่เสร็จซึ่งบพ.ต้องป้องกันทุกเรื่อง ทั้งด้านความปลอดภัย (Safety) ที่กำลังปรับปรุงตาม ICAO ส่วนด้านรักษาความปลอดภัย (Security) จะต้องไม่ประมาท ต้องป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากระทบทำให้ภาพลักษณ์เสียหายมากขึ้น ซึ่งต้องเตรียมการในส่วนของ 28 สนามบินภูมิภาคให้พร้อมกรณีมีการตรวจสอบ ทั้งในเรื่องสภาพความพร้อมทางกายภาพ การบริการ บุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ ที่ดี เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบใดๆ ในช่วงนี้”