xs
xsm
sm
md
lg

เร่งยกเครื่อง พ.ร.บ.เดินอากาศฯ ให้ทันสมัยตามมาตรฐาน ICAO

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” เร่งปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.เดินอากาศใหม่ทั้งฉบับ 19 หมวด 494 มาตรา เน้นให้เป็นไปตามข้อกำหนด ICAO และมาตรฐานสากล รองรับการปรับโครงสร้างและบทบาทหน้าที่กรมการบินพลเรือนใหม่ คาดสรุปใน ส.ค. เพื่อเสนอ ครม.และ สนช.ต่อไป

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ...(ทั้งฉบับ) จาก พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อปรับปรุงพัฒนากฎหมายให้มีความทันสมัยและเป็นสากล จากที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้เข้ามาตรวจสอบกรมการบินพลเรือน (บพ.) โดยการปรับแก้กฎหมายจะพิจารณา 4 ประเด็นหลัก คือ ศึกษาข้อกฎหมายจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย มาเป็นแนวทาง, กฎหมายที่เป็นอนุผนวกของกฎหมายสากลระหว่างประเทศ, จากร่างกฎหมายที่กฤษฎีกาได้ตีความและให้คำแนะนำไว้แล้ว และกฎหมายที่อยู่ใน พ.ร.บ.เดินอากาศ 2497 เดิมที่ยังสามารถใช้ได้ครอบคลุมไปในอนาคต โดยการปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของ ICAO สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และให้สอดคล้องกับรูปแบบของโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของ บพ.ที่จะปรับปรุงใหม่

นอกจากนี้ การปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การเดินอากาศใหม่นั้นจะต้องสามารถใช้บังคับได้ทั้งผู้ประกอบการภายในประเทศและต่างประเทศ โดยจะเน้นในเรื่องความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัย และมาตรฐาน มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ3-4 ชุด มีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยให้ความเห็น กำหนดกรอบเวลาในการดำเนินงานประมาณ 30 วัน โดยคณะกรรมการฯ จะประชุมครั้งที่ 2 ในช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้ และครั้งที่ 3 ช่วงปลายเดือน ก.ค. ซึ่งคาดว่าจะสรุปรายละเอียดได้ จากนั้นจะส่งเรื่องไปที่กฤษฎีกาเพื่อตรวจสอบร่าง และเนื้อหาสาระสำคัญ จากนั้นคาดว่าคณะกรรมการฯ จะประชุมครั้งที่ 4 ประมาณกลางเดือน ส.ค.เพื่อสรุปและให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. จากนั้นจะนำเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติหลักการและเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป โดยกรอบเวลาอาจปรับเปลี่ยนได้ขึ้นกับการพิจารณาข้อกฎหมายของคณะอนุกรรมการฯ ว่าจะมีประเด็นเพิ่มเติมและประเด็นที่กระทบต่อแผนงานหรือไม่

“เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้แสนอการปรับปรุงโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ของกรมการบินพลเรือนต่อนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เพื่อพิจารณาใช้มาตรา 44 ซึ่งคาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ในสัปดาห์หน้า ซึ่งหากนายกฯ เห็นชอบก็จะเดินหน้าดำเนินงานโครงสร้างด้านการบินใหม่ไปพรางก่อนจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 58 แต่หากการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.เสร็จก่อนจะยกเลิกการใช้มาตรา 44 และใช้กฎหมายนี้แทน ซึ่งตอนนี้วางแผนไว้ 2 แนวทางเพราะไม่ทราบว่าการปรับปรุง พ.ร.บ.จะใช้เวลาแค่ไหน” พล.อ.อ.ประจินกล่าว

นายเสรี จิตต์โสภา รองอธิบดีกรมการบินพลเรือน กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การเดินอากาศฉบับปรับปรุงใหม่จะมี 19 หมวด 494 มาตรา โดยเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่จัดทำมาจาก 4 ส่วน คือ กฎหมายเดิมของ บพ.ที่มีการใช้บังคับที่เหมาะสมอยู่แล้ว จากร่างกฎหมายที่กฤษฎีกาได้ผ่านการพิจารณารับฟังความคิดเห็นแล้ว รวมกับภาคผนวกที่เป็นสากล โดยทั้งหมดจะเป็นรูปแบบใหม่ที่จะมีการบรรจุเฉพาะสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ฉบับปรับปรุงนี้ ส่วนรายละเอียดต่างๆ จะมีการกำหนดไว้ในกฎหมายรอง ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ให้เป็นไปตามภาคผนวกของ ICAO สะดวกมากขึ้น คาดว่าจะใช้เวลาพัฒนาปรับปรุงประมาณ 30 วัน จะสรุปเสนอกฤษฎีกาได้

โดยคณะอนุกรรมการฯ 4 ชุดจะมีผู้แทนด้านกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อช่วยกันตรวจสอบกลั่นกรองร่างกฎหมายก่อนส่งให้กฤษฎีกาตรวจสอบ ได้แก่ สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และสมาคมนักบินไทย

อย่างไรก็ตาม สภาพปัญหาที่ ICAO ตรวจสอบประเทศไทยพบข้อบกพร่องที่เป็นกฎหมายหลัก (CE-1) 22 ข้อบกพร่อง แบ่งเป็น ด้าน LEG (กฎหมายและกฎระเบียบ) จำนวน 9 ข้อ, ด้าน ORG (องค์กร) จำนวน 1 ข้อ, ด้าน OPS (การปฏิบัติการบิน) จำนวน 1 ข้อ, ด้าน AIG (การสอบสวนอุบัติเหตุอากาศยาน) จำนวน 9 ข้อ, ด้าน ANS (การให้บริการการเดินอากาศ) จำนวน 2 ข้อ
กำลังโหลดความคิดเห็น