xs
xsm
sm
md
lg

BTS เสนอ”คมนาคม”พร้อมทุ่มไม่อั๋น สร้างรถไฟทางคู่-ขนสินค้าสายอีสาน-พัฒนาพื้นที่กม.11

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


BTS เสนอลงทุนพัฒนาพื้นที่กม. 11 ผุดอาคารชุดที่อยู่คุณภาพดีให้พนักงานรถไฟ และก่อสร้างรถไฟทางคู่ 3 เส้นทางกว่า 7 หมื่นล. พร้อมกับรับสัมทานเดินรถสินค้าสายอีสาน ขอนแก่น-แหลมฉบัง “ประจิน”ให้ทำรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม นัดส่งการบ้าน 25 มิ.ย. ชี้ร่วมทุน PPP ต้องปฎิบัติ ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลัง นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ BTS พร้อมผู้บริหารบริษัท เข้าพบวันนี้ (5 มิ.ย.) ว่า ทาง BTS ได้มารายงานความก้าวหน้ากรณีที่บริษัทฯ ได้เสนอขอรับสัมปทานเดินรถไฟเพื่อขนส่งสินค้า ในเส้นทางอีสาน จากขอนแก่น-แหลมฉบัง ระยะทางประมาณ 500 กม. พร้อมลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ 3 เส้นทางที่อยู่ในแนวเส้นทาง และการจัดหาตู้ขนสินค้า ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ และระบบไฟฟ้า (Power Supply) เพื่อสนับสนุนการเดินรถ ที่จะมีการจัดหาหัวจักรไฟฟ้ามาใช้แทนหัวจักรดีเซลในปัจจุบัน พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังได้เสนอขอลงทุนพัฒนาที่ดินรถไฟบริเวณกม. 11 พื้นที่ประมาณ 360 ไร่ โดยจะก่อสร้างเป็นที่พักอาศัยให้พนักงานรถไฟ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตพนักงานรถไฟให้ดีขึ้น โดยในที่ประชุมซึ่งมีทั้งนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ให้ความเห็นตรงกันว่า ควรมีการกำหนดความชัดเจนมากกว่านี้ เช่น กรณีเดินรถสินค้ามีตารางเดินรถอย่างไร การร่วมทุนจะเป็น PPP รูปแบบใด อายุสัญญา ผลตอบแทนการลงทุน รวมถึงรายละเอียดการพัฒนาที่ดินบริเวณกม.11 จึงให้ทางบริษัทฯไปทำรายละเอียดเพิ่มเติม และให้เสนอกลับมาอีกครั้ง ภายในวันที่ 25 มิ.ย.นี้

โดยในส่วนของการพัฒนากม. 11 นั้น ทาง BTS เห็นว่า ปัจจุบันร.ฟ.ท.มีปัญหาเรื่องงบประมาณในการก่อสร้างที่พักอาศัยให้พนักงาน ซึ่งทางบริษัทฯ มีขีดความสามารถในการลงทุนก่อสร้างที่พักอาศัยที่มีคุณภาพดี โดยใช้ต้นทุนต่ำ ซึ่งตรงกับนโยบายที่ไม่ต้องการให้พัฒนาพื้นที่กม. 11 เป็นเชิงพาณิชย์ทั้ง 100% ตามที่มีการออกแบบไว้เดิม ซึ่งเบื้องต้นทาง BTS รับที่จะกลับไปออกแบบการพัฒนาพื้นที่กม.11 ใหม่โดยจะต้องมี 4 ส่วนคือ 1. ก่อสร้างเป็นที่พักอาศัยของพนักงานรถไฟ รวม 8,000-8,500 ครอบครัว (เป็นพนักงานที่อาศัยในพื้นที่กม. 11 เดิมประมาณ 6,000 ครอบครัวและจากมักกะสันที่จะย้ายมาอีก 2,000-2,500 คน) 2. ก่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้ปานกลาง 3. สวนสาธารณะ 4. พื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น โรงแรม ร้านค้าระดับกลางเพื่อหารายได้จากส่วนนี้ไปชดเชยการลงทุนในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้พนักงานรถไฟ

สำหรับการก่อสร้างรถไฟทางคู่ในเส้นทางสายอีสานนั้น ตามแผน มี 3 เส้นทาง วงเงินประมาณ 7 หมื่นล้านบาท โดยจะเริ่มการประกวดราคาในเดือนส.ค. 2558 คือ เส้นทาง ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กม. วงเงิน 11,348.36 ล้านบาท , ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กม. วงเงิน 26,007.20 ล้านบาท ผ่านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว , มาบกะเบา –ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. วงเงิน 29,855.08 ล้านบาท ทาง BTS เสนอให้กระทรวงคมนาคมโอนงบประมาณที่จะใช้ก่อสร้างใน 3 เส้นทางนี้ ไปในโครงการอื่น โดย BTS จะเข้ามาลงทุนให้ ซึ่งคงต้องรอดูรายละเอียดข้อเสนอในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ก่อน โดยในขณะนี้โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 3 เส้นทางยังคงดำเนินการไปตามแผน ไม่ได้หยุดรอแต่อย่างใด และหากตัดสินใจให้ BTS เข้ามาลงทุน จะต้องปฎิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556

“วันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีโดยทาง BTS จะต้องไปออกแบบมาว่าจะทำอะไร ตรงไหน ลงทุนเท่าไร ผลตอบแทนเป็นอย่างไร หากทำได้ ต่อไปพนักงานรถไฟจะมีที่อยู่อาศัยที่ดี เป็นอาคารชุด มีการเดินทางที่เชื่อมโยงสะดวก เพราะจะต้องออกแบบที่อยู่อาศัย พร้อมกับเชื่อมต่อการเดินทางไปยังสถานีรถไฟฟ้าจตุจักร ป้ายรถเมล์ เป็นต้น“พล.อ.อ.ประจินกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น