xs
xsm
sm
md
lg

การพัฒนาแหล่งน้ำ โจทย์หินสุดในโครงสร้างพื้นฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ถ้าเอาประวัติศาสตร์มาว่ากัน มันก็เหมือนประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

ระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟกับการสร้างเขื่อนเจ้าพระยาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สุดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ต้องหลีกทางให้ทางรถไฟ

แม้ลุล่วงถึงรัชกาลที่ 6 ต่อเนื่องถึงรัชกาลที่ 8 เขื่อนเจ้าพระยาก็ไม่ได้ลงมือก่อสร้างด้วยเหตุผลเดียวคือไม่มีเงิน

แต่เมื่อก่อสร้างเขื่อนเจ้าพระยาในรัชกาลที่ 9 เขื่อนนี้มีบทบาทสำคัญในการทดน้ำเหนือเขื่อนออกไปทางสองฝั่งลำน้ำ ส่งไปยังพื้นที่นาข้าวของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีความสมบูรณ์ในตัวอยู่แล้ว รอเพียงความมั่นคงด้านน้ำอย่างเดียว

จนเต็มขีดความสามารถของเขื่อนทดน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำได้อย่างจำกัด รัฐบาลจึงต้องหันไปสร้างความมั่นคงของแหล่งน้ำต้นทุนเหนือเขื่อนเจ้าพระยา นั่นคือเขื่อนเก็บกักน้ำภูมิพล เขื่อนภูมิพล เป็นแหล่งน้ำต้นทุน ก่อสร้างปิดกั้นลำน้ำปิงที่ จ.ตาก แล้วโรยน้ำลงมาให้เขื่อนเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท เพื่อทดน้ำและส่งกระจายไปยังสองฟากฝั่งนับล้านๆ ไร่ เป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตข้าวอย่างเป็นล่ำเป็นสันในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ฟังดูสวยงามดี แต่กว่าจะสร้างเขื่อนภูมิพลได้ก็ต้องต่อสู้ทางความคิดระหว่างนักการเมือง นักวิชาการ และประชาชนกันยกใหญ่ เป็นความโชคดีที่ส่วนใหญ่เอาด้วย โครงการเขื่อนภูมิพลจึงถือกำเนิดขึ้นมาได้ และตามมาด้วยโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่อื่นๆ อีก 32 แห่ง

ในระยะหลัง การพัฒนาโครงการเขื่อนและอ่างเก็บน้ำกระทำได้ยากชนิดเลือดตาแทบกระเด็น เพราะสถานที่ก่อสร้างเขื่อนที่มีศักยภาพล้วนอยู่ในพื้นที่ป่าเขาแทบทั้งสิ้น ดังนั้นจึงต้องเผชิญแรงต้านจากกลุ่มเอ็นจีโอ กลุ่มนักอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมทั้งส่วนงานราชการบางหน่วย ซึ่งมองในแง่มุมอนุรักษ์เพียงด้านเดียว

ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานด้านอื่น เช่น ถนน ทางหลวง รถไฟฟ้าใต้ดิน บนดิน รถไฟความเร็วสูง ท่าอากาศยาน โครงข่ายโทรคมนาคม และ ฯลฯ แทบไม่พบการต่อต้านใดๆ หรือหากมีก็น้อยเต็มที เป็นอาการเดียวกับในประวัติศาสตร์ดังกล่าวข้างต้น

โครงการตามแผนยุทธศาสตร์น้ำในรัฐบาลปัจจุบันที่ใช้วงเงินลงทุน 9 แสนล้านบาท ซึ่งก็ไม่ได้มากกว่าหรือมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการลงทุนโครงการพื้นฐานอื่น แต่กลับเป็นข่าวเงียบๆ กลับกันมีข่าวต่อต้านคัดค้านตามหลังประปรายเช่นกัน

โครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ ได้สร้างคุณูปการยิ่งใหญ่แก่สังคมไทยมายาวนานกว่า 5 ทศวรรษ และยังต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ไม่ต่างจากโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่น ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ เป็นปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตรหรืออาหารที่สำคัญ ทำให้ประเทศไทยได้รับการกล่าวขวัญว่า เป็นครัวโลกแห่งหนึ่ง

การต่อต้านคัดค้านโดยมุ่งว่าเป็นโครงการหากินของนักการเมืองนั้น ก็ถูกเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างจากโครงสร้างพื้นฐานอื่น ในทางกลับกันมันเป็นการจับเกษตรกรเป็นตัวประกันอย่างน่าตกใจ

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำหลายแห่งทั่วประเทศถูกคัดค้าน ถูกต่อต้าน ท่ามกลางความต้องการน้ำของเกษตรกรและประชาชนที่ขาดแคลนน้ำซ้ำซาก พอๆ กับเผชิญปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเช่นกัน

หลายๆ พื้นที่ราษฎรประสบภัยน้ำ ทั้งน้ำท่วมและการขาดแคลนน้ำในลักษณะซ้ำซากทุกปี ปีแล้วปีเล่า จนไม่อาจเปรียบเปรยชะตาทรามนี้อย่างไรดี

ถ้ายังขืนปล่อยให้พัฒนาต่อไปในรูปแบบนี้ คนไทยบางส่วนอาจมีสภาพเป็นโรฮิงญาที่ต้องละทิ้งถิ่นฐานอพยพเข้าไปหากินในเมือง ยิ่งสร้างปัญหาให้เมืองหนักหนาขึ้น หลังจากที่เคยแก้ไขปัญหาได้สำเร็จระดับหนึ่งมาแล้วตลอด 50 ปีที่ผ่านมา นั่นคือการพัฒนาแหล่งน้ำนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น