เอเอฟพี - วานนี้ (29 พ.ค.) ปักกิ่งเชิญคณะทูตและสื่อมวลชนร่วมงานพิธีทำลาย ‘งาช้าง’ เถื่อนปริมาณกว่า 660 กิโลกรัม แต่นักอนุรักษ์ธรรมชาติติงยังวางขายเกลื่อนตลาดแผ่นดินใหญ่อยู่ดี แถมการปราบปรามก็ไม่ก้าวหน้าเท่าไรนัก
กิจกรรมดังกล่าวซึ่งจัดขึ้นที่ชานกรุงปักกิ่งเป็นความพยายามส่วนหนึ่งของทางการจีน ที่อยากลบภาพลักษณ์ศูนย์กลางค้างาช้างอย่างผิดกฎหมายในสายตาชาวโลก โดยสินค้างาช้างหลากหลายประเภท อาทิ แหวน กำไล ตะเกียบ จนถึงงาช้างแกะสลักขนาดใหญ่ ถูกป้อนเข้าเครื่องบดทำลายพ่นกระจายฝุ่นผงสู่อากาศ
“เราจะควบคุมการค้างาช้างอย่างเข้มงวดกวดขัน จนกว่าปัญหาการทำธุรกิจเชิงพาณิชย์นี้จะยุติลงในท้ายที่สุด” เจ้า ซู่ฉง หัวหน้าสำนักงานป่าไม้แห่งรัฐ (State Forestry Administration) ของจีนกล่าวต่อสื่อมวลชนทั้งจีนและเทศ รวมถึงคณะทูตจากสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และชาติแอฟริกา
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้จีนเร่งผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆ ทั้งยกระดับการจับกุมกลุ่มผู้ลักลอบค้าขาย และการจับยึดงาช้างเถื่อนตามแนวชายแดน ทว่าผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ายังมีงาช้างขายอยู่ในประเทศจีนอีกมาก โดยประเมินกันว่า จีนครองสัดส่วนความต้องการงาช้างจากทั่วโลกถึงร้อยละ 70 เลยทีเดียว
ขณะเดียวกันความนิยมงาช้างซึ่งถูกตีค่าเป็นของบ่งบอกฐานะความร่ำรวยที่เพิ่มมากขึ้นในทวีปเอเชีย ก็เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของช้างแอฟริกันจำนวนมหาศาล ซึ่งนักอนุรักษ์ฯ ชี้ว่า เป็นเพราะความล้มเหลวที่จะควบคุมเครือข่ายลักลอบค้างาช้างระหว่างประเทศ
รายงานร่วมวิจัยฉบับหนึ่งของกลุ่มรณรงค์และพิทักษ์ช้างชื่อว่า Save the Elephants and the Aspinall Foundation พบว่ามีการฆ่าช้างป่าเอางามากกว่า 1 แสนตัว ระหว่างปี 2553-2555 และสถานการณ์ก็เลวร้ายยิ่งขึ้น เมื่อเจอเชื้อไฟอย่างการค้างาช้างเถื่อนที่ ‘ไร้การควบคุม’ ในประเทศจีน
อย่างไรก็ดี เมื่อปีก่อนจีนได้จัดกิจกรรมลักษณะนี้เป็นครั้งแรกที่เมืองตงกวน มณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ โดยทำลายงาช้างล็อตใหญ่ จำนวนกว่า 6,000 กิโลกรัม และต่อมาในเดือนก.พ. ก็ประกาศห้ามนำเข้าสินค้างาช้างเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม ซึ่งเกิดเสียงวิจารณ์ว่าทางการจีนกำลังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด