xs
xsm
sm
md
lg

หลอกกันมานานนับศตวรรษ “ดำมลายู” ที่แท้ก็คือดาวซ่อนลายลับลวงพราง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<FONT color=#000033>ต้มจนเปื่อย ... ใครๆ ก็เรียกเจ้านี่ว่า เสือดำแห่งคาบสมุทรมลายู มาตลอด แสงไฟจากแฟลชอินฟราเรด ติดกล้องอัตโนมัติของนักวิทยาศาสตร์-นักวิจัยกลุ่มหนึ่ง ได้เปิดเผยความลี้ลับเป็นครั้งแรก แท้จริงแล้ว ก็คือ เสือดาว ดีๆ นี่เอง แต่หมอนี่มันเก่งจริงในเรื่องลับลวงพราง. -- Photo Courtesy RIMBA.</b>

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - คำกล่าวที่ว่า “ชาติเสือไม่ทิ้งลาย” เป็นความจริง.. เรื่องที่เคยเป็นความลี้ลับมานานเรื่องหนึ่งในคาบสมุทรมลายู เพิ่งถูกเปิดเผยออกมาในสัปดาห์นี้ นักวิทยาศาสตร์สงสัยกันมานานแล้วว่า เพราะเหตุใดจึงมีเสือดำ (Black Panther) ปรากฏตัวให้เห็นในเขตป่าสงวนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของมาเลเซีย ในขณะที่ประชากรเสือดาว (Leopard) กลับมีจำนวนน้อยกว่า แต่แท้จริงแล้วก็คือ พวกนี้เป็นพวกเดียวกัน เพียงแต่กลุ่มแรกแตกต่างไปจากญาติในครอบครัว เพราะทำตัวเป็นนักลับลวงพราง

ความแตกเมื่อนักวิทยาศาสตร์ กับนักอนุรักษ์ธรรมชาติ นำเอากล้องถ่ายภาพอัตโนมัติชนิดตรวจจับความเคลื่อนไหวที่บังคับให้แฟลชทำงานทั้งกลางวัน และในเวลากลางคืน ไปติดตั้งในเขตป่าสงวน รัฐเตร็งกานู (Terengganu) ของมาเลเซีย และได้ภาพที่เปิดเผยความลับออกมาให้ชาวโลกได้รู้โดยบังเอิญ

วิธีการก็คือ ผู้เชี่ยวชาญ “ปิดแสง” ที่เซ็นเซอร์ของกล้อง เพื่อ “หลอก” ให้เซ็นเซอร์สั่งไฟแฟลชให้ทำงานแบบ “ฟูลไทม์” แสงจากแฟลชที่มีระดับความถี่ใกล้เคียงกับอัลตราไวโอเลตที่ทำงานในเวลากลางวัน ได้เปิดเผยให้เห็นลายของเสือดาวที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ผิวสีดำของพวกนี้ นักวิชาการ แห่งมหาวิทยาลัยเจมส์คุก (James Cook University) ออสเตรเลีย กับนักวิทยาศาสตร์ นักอนุรักษ์ธรรมชาติในมาเลเซีย ร่วมกันเปิดเผยเรื่องนี้ ในผลการวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่สัปดาห์ที่ผ่านมา

การวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก JCU ดำเนินการเป็นหมู่คณะ นำโดยลอรี เฮ็ดจ์ (Laurie Hedges) นักศึกษาปริญญาโท ที่คณะภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม วิทยาเขตมาเลเซีย (University of Nottingham Malaysia Campus) ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Journal of Wildlife Management ฉบับประจำเดือน ก.ค.2558 ของสมาคมสัตว์ป่า (Wildlife Society) ในรัฐแมรีแลนด์ สหรัฐฯ

“กล้องอัตโมัติทั่วไปจะติดตั้งแฟลชอินฟราเรด แต่พวกนั้นจะทำงานก็ในเวลากลางคืน.. แต่เราสามารถหลอกมันได้ โดยปิดกั้นตัวเซ็นเซอร์แสงของกล้องเอาไว้ เพื่อให้มันคิดว่าเป็นกลางคืน ถึงแม้จะเป็นกลางวันแสกๆ ก็ตาม ดังนั้นแฟลชจึงทำงานตลอดเวลา” ดร.โกปาลาสมี รูเบน เคลเม็นต์ (Gopalasamy Reuben Clements) แห่งคณะภูมิศาสตร์ UNMC กล่าว

มหาวิทยาลัยเจมส์ คุก เผยแพร่เรื่องนี้ในเว็บไซต์ และภาพถ่ายจากป่าสงวนรัฐเตร็งกานู ที่เผยแพร่โดย RIMBA ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร ของนักวิจัยอิสระเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติในมาเลเซีย ได้เปิดเผยให้เห็นการค้นพบที่น่าตื่นตาตื่นใจนี้

การศึกษาวิจัยเพื่ออนุรักษ์เสือดาวทั่วไปกระทำได้ไม่ยาก นักวิทยาศาสตร์ กับผู้เชี่ยวชาญสามารถลงทะเบียนพวกนี้ได้เป็นรายตัว จากลายโรเสตตา (Rosetta) คือ ลายสีดำที่เป็นรูปคล้ายดอกกุหลาบของแต่ละตัวที่แตกต่างกัน แต่พอเจอพวกดำๆ เข้าทุกอย่างก็มืดมน จนกระทั่งแสงอินฟราเรดจากแฟลชที่ทำงานในเวลากลางวันได้ช่วยเปิดเผยความลี้ลับที่ใต้ผิวหนังของพวกนี้มานานหลายศตวรรษ ซึ่งแสงแฟลชทั่วไปในเวลากลางคืน “เข้าไม่ถึง”

นักวิทยาศาสตร์ที่ปฏิบัติงานอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่า อยู่ในรัฐเตร็งกานู (Terengganu) กำลังจะนำเอาเทคนิคใหม่ที่ใช้กับกล้องอัตโนมัติ ในป่าสงวนแห่งชาติเต็งกานู ไปใช้ในเขตอื่นๆ ทั่วมาเลเซีย เพื่อศึกษาติดตามประชากรเสือดาวดำในประเทศนี้ต่อไป

ศ.วิลเลียม ลอรันซ์ (William Laurance) จาก JCU กล่าวว่า เสือดาวที่เสียชีวิตในมาเลเซียจำนวนมากมีสาเหตุจากกับดักที่ใช้ลวด ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุหลักทำให้จำนวนประชากรแมวยักษ์ในประเทศนี้ลดลงเรื่อยๆ นอกจากนั้่น ก็ยังพบมีหนัง และชิ้นส่วนอื่นๆ ของเสือดาว วางขายในตลาดแถวชายแดนพม่า-จีน อันแสดงให้เห็นว่า พวกมันกำลังถูกคุกคามอย่างน่ากลัว และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

อัตราการตายของเสือดาวในมาเลเซียอาจจะมากสูงกว่า หรือเร็วกว่าที่อื่นๆ เนื่องจากการตัดไม้ในป่า อันเป็นถิ่นที่อาศัยของสัตว์ชนิดนี้ ศ.ลอรันซ์ กล่าว

เพราะเหตุใดจึงต้องดำอำพราง? นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า ในป่ามาเลเซียในบางท้องที่ ซึ่งเป็นป่าฝนในเขตร้อนชื้น เปลือกของต้นไม้จำนวนมากจะมีสีดำที่เกิดจากรา หรือตะไคร่น้ำ ทำให้ “ไอ้ดำ” พรางตัวได้ดีกว่า แต่ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรยังไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด

เสือดาว (Leopard/เล-เพิด/Panther/แพน-เธอ) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จัดอยู่ในตระกูล (Genus) เสือ และแมว (Felidae) ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Panthera pardus เป็นพวกเดียวกันกับเสือโคร่ง หรือ Panthera tigris พบกระจายกันอยู่ในหลายภูมิภาคของโลก ตั้งแต่แอฟริกา จนถึงอินเดีย ตอนใต้ของจีน จนถึงรัสเซีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งในพม่ากับประเทศไทยด้วย แต่เสือดำพบน้อยมาก

นักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ในโลกนี้มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอยู่เพียงไม่กี่ชนิดที่พัฒนาผิวหนังกับขนของตัวเองเป็นสีดำ ที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า "พวกเมลานิสต์" (Melanist) ได้ การค้นพบในมาเลเซียช่วยยืนยันว่า เสือดาวมีขีดความสามารถนี้

เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่า เสือดาว กับเสือดำ (Black Panther) เป็นสัตว์ชนิด (Species) เดียวกัน ลูกของเสือดาวแต่ละครอก เจ้าตัวเล็กที่ออกมาอาจจะมีทั้งที่เป็นลายดำ และดำล้วน แต่ก็ไม่จำเป็นว่าจะเติบโตขึ้นมาเป็น “ดาวดำ” ทุกตัว และ ก็ไม่เคยรู้กันมาก่อนว่า หนังที่ดูเป็นสีดำนั้น มีลายธรรมชาติซ่อนตัวอยู่

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์จะต้องค้นหาต่อไปก็คือ เสือดาวแห่งคาบสมุทรมลายู ใช้ความสามารถพิเศษอะไรทำให้ตัวเองเปลี่ยนเป็นสีดำอำพรางได้ มันทำได้อย่างไร และ เหตุใดจึงต้องวิวัฒนาการเหนือชั้นแบบนี้.
.
ปูดลับ RIMBA (Malaysia)
<FONT color=#000033>Photo Courtesy RIMBA</b>
2
<FONT color=#000033>Photo Courtesy RIMBA</b>
3
<FONT color=#000033>Photo Courtesy RIMBA</b>
4
<FONT color=#000033>Photo Courtesy RIMBA</b>
5
กำลังโหลดความคิดเห็น