• ยูเนสโกเตรียมยก “ม.นาลันทา” ขึ้นเป็นมรดกโลก
อินเดีย : ทีมผู้เชี่ยวชาญขององค์การยูเนสโก และสภานานาชาติว่าด้วยการดูแลอนุสรณ์สถานและแหล่งโบราณคดี (Icomos) ได้เข้าสำรวจซากมหาวิทยาลัยนาลันทาโบราณ เมืองปัตนะ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เพื่อประเมินคุณค่าและศักยภาพในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก หลังจากที่รัฐบาลอินเดียได้ยื่นเรื่องเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้
“มหาวิทยาลัยนาลันทาโบราณ ขยับเข้าใกล้อีกขั้นที่จะได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเป็นแห่งที่ 2 ของรัฐพิหาร หลังจากที่วัดมหาโพธิ พุทธคยา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อ ค.ศ. 2002” เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น กล่าว
มหาวิทยาลัยนาลันทาโบราณ สร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 5 สมัยจักรวรรดิคุปตะ เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มีนักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์จากจีน ทิเบต เกาหลี ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เปอร์เซีย และตุรกี รวมถึงภิกษุจีนชื่อดัง คือ หลวงจีนฟาเหียน และพระเสวียนจั้ง (พระถังซัมจั๋ง) ได้เดินทางมาศึกษาเล่าเรียนที่นี่
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยนาลันทาโบราณยังเปิดสอนหลากหลายสาขาวิชา อาทิ ศิลปศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ และตรรกศาสตร์ ก่อนจะล่มสลายลงในคริสต์ศตวรรษที่ 13
(จาก IANS)
• เวียดนามเตรียมชู “วันสารท” เป็นเทศกาลประจำชาติ
เวียดนาม : ชาวเวียดนามจำนวนมากได้เดินทางไปที่วัดต่างๆทั่วประเทศ เพื่อเฉลิมฉลองวัน “Vu Lan” (วูลาน หรือวันสารทเดือน 7) เทศกาลของชาวพุทธ ซึ่งแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้เป็นมารดา ซึ่งจัดขึ้นทุกวันที่ 15 เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติของทุกปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 28 สิงหาคม 2015
ภายในวัด บรรดาพุทธศาสนิกชนพากันจุดธูปสวดมนต์ วิงวอนให้บรรพบุรุษและครอบครัวตนเองมีความสุขสงบ ทั้งนี้ ผู้ร่วมงานจะได้รับดอกกุหลาบพลาสติกติดบนเสื้อ โดยดอกกุหลาบสีชมพูหรือสีแดง สำหรับผู้ที่มารดายังมีชีวิตอยู่ ส่วนสีขาวสำหรับผู้ที่มารดาล่วงลับไปแล้ว
“ผมมาที่วัดเพื่อทำใจให้สงบ และสวดมนต์ให้คุณแม่ของผม เพื่อให้ท่านมีสุขภาพดีและอายุยืน” เล แท็ง ถ่วน ซึ่งพามารดาของเขามาที่วัดฮว่าคั้น ในเขตบิ่งแท็ง กล่าว
ขณะที่ใจกลางเมืองเว้ จังหวัดเถื่อเทียน-เว้ ชาวบ้าน นักท่องเที่ยว และชาวต่างชาติ ต่างเดินทางมาที่วัดเพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันอันมีความหมายยิ่งใหญ่นี้
“ฉันมาที่นี่เพื่อรำลึกถึงคุณแม่ที่เสียชีวิตไปแล้ว และเพื่อสอนลูกๆของฉันให้มีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ” เหงียน ธิ มอท ซึ่งติดดอกกุหลาบพลาสติกสีขาวบนเสื้อ กล่าว
อนึ่ง ศูนย์อนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมทางศาสนา แห่งสมาคมมรดกวัฒนธรรมเวียดนาม ได้ยื่นเรื่องต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณาให้วันวูลาน เป็นเทศกาลวัฒนธรรมประจำชาติ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
(จาก Tuoi Tre News)
• ญี่ปุ่นเตรียมเช็คสภาพ “หลวงพ่อโต” เป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี
ญี่ปุ่น : พระพุทธรูปไดบุทสึ (หลวงพ่อโต) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปอมิตาภะประทับนั่งองค์ใหญ่ ประดิษฐานกลางแจ้งภายในวัดโคโตะกุ เมืองคะมะกุระ จังหวัดคานางาวะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เตรียมได้รับการตรวจสภาพอย่างละเอียด ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 50 ปี โดยใช้งบประมาณราว 65 ล้านเยน (ราว 18 ล้านบาท)
หลวงพ่อโตองค์นี้มีความสูง 13.35 เมตร หนัก 121 ตัน หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่อันดับสองในญี่ปุ่น ซึ่งการตรวจสภาพครั้งสุดท้ายทำใน ค.ศ. 1959-1961
“มันเป็นการตรวจสภาพครั้งใหญ่ในทุกๆ 50 ปี ซึ่งต้องมีการตั้งนั่งร้านและใช้วัสดุปกคลุมองค์พระ รวมถึงจำกัดพื้นที่บางส่วนไม่ให้บุคคลภายนอกเข้า อาตมาต้องขออภัยในความไม่สะดวก และหวังว่าทุกท่านคงเข้าใจ” พระทาคาโอะ ซาโตะ เจ้าอาวาสวัดโคโตะกุ กล่าว
อนึ่ง การทำความสะอาดและตรวจสภาพความเสียหายขององค์หลวงพ่อโต จะเริ่มขึ้นระหว่างวันที่ 13 มกราคม ถึง 10 มีนาคม 2016
(จาก The Asahi Shimbun)
• นักอนุรักษ์ฯเกาหลีใต้จัดแรลลี่ “กราบ” คัดค้านสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นเขา
เกาหลีใต้ : กลุ่มนักอนุรักษ์ธรรมชาติกลุ่มหนึ่ง ได้รวมตัวกันทำกิจกรรม “แรลลี่กราบขึ้นเขา” ตลอดการเดินทางขึ้นไปยังยอดเขาแดชองบอง บนภูเขาซอรัคซาน ในเขตแยงยัง จังหวัดคังวอน ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อคัดค้านการติดตั้งกระเช้าไฟฟ้าขึ้นไปยังยอดเขาดังกล่าว
ทั้งนี้ พวกเขาพากันใช้วิธีกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์ อันเป็นท่ากราบแบบนอนราบทั้งตัว โดยให้ส่วนสำคัญของร่างกาย 8 ส่วนแตะพื้น ได้แก่ มือทั้งสอง เข่าทั้งสอง เท้าทั้งสอง ลำตัว และหน้าผาก ตามแบบฉบับของชาวทิเบต ไปตลอดระยะทาง
อนึ่ง ซอรัคซาน เป็นภูเขาที่สูงที่สุดของเทือกเขาแตแบค (ซึ่งทอดยาวจากเกาหลีเหนือไปยังเกาหลีใต้ ทางชายฝั่งตะวันออก) และสูงเป็นอันดับสามของเกาหลีใต้ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติซอรัคซาน เมืองซกโช ซึ่งปัจจุบันได้ติดตั้งกระเช้าไฟฟ้า พานักท่องเที่ยวขึ้นไปยังยอดเขาหลายแห่งแล้ว
(จาก Yonhap)
• อินเดียเล็งพัฒนา “พุทธคยา” เป็นเมืองหลวงแห่งจิตวิญญาณ
อินเดีย : เมื่อเดือนกันยายน 2015 นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย เปิดเผยหลังเสร็จสิ้นการเยือนวัดมหาโพธิ พุทธคยา ว่าต้องการพัฒนาพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เป็นเมืองหลวงแห่งจิตวิญญาณ
“ข้าพเจ้ายอมรับว่า พุทธศาสนิกชนทั่วโลกยกย่องพุทธคยา ว่าเป็นสถานที่จาริกแสวงบุญ พวกเราชาวอินเดียจึงอยากพัฒนาพุทธคยา ให้กลายเป็นเมืองหลวงแห่งจิตวิญญาณ และเป็นจุดสานสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมประเพณีระหว่างชาวอินเดียและชาวพุทธทั่วโลก
รัฐบาลอินเดียต้องการสนับสนุนทุกเรื่องหากเป็นไปได้ ที่ชาวพุทธจากประเทศต่างๆอยากให้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้มีสิ่งใดเพิ่มขึ้น”
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีอินเดียยังได้กล่าวแสดงการยกย่องพระพุทธเจ้าว่า ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ปฏิรูปศาสนาฮินดูเท่านั้น แต่ทรงปฏิรูปโลกด้วย โดยทรงแสดงธรรมให้ชาวโลกได้รู้แจ้งเห็นจริง เพื่อความอยู่รอด
“ศาสนาฮินดูในอินเดีย เป็นผลิตผลของศาสดาและครูบาอาจารย์ด้านจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่หลายท่าน และหนึ่งในนั้นคือ พระพุทธเจ้า การตรัสรู้ของพระพุทธองค์ที่พุทธคยา เป็นการจุดแสงสว่างแห่งปัญญาในศาสนาฮินดูเช่นกัน”
โมดีกล่าวด้วยว่า ทั้งพระพุทธเจ้าและพระกฤษณะ (เทวะองค์หนึ่งในศาสนาฮินดู) ทรงสั่งสอนชาวโลกไว้มากมาย ให้ตั้งมั่นกระทำแต่ความดี ทรงให้หลักและวิธีการปฏิบัติอันยิ่งใหญ่
“พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องมรรคมีองค์แปดและศีล 5 ขณะที่พระกฤษณะทรงสอนเรื่องกรรมโยคะ คำสอนของทั้งสองพระองค์ ส่วนใหญ่นำไปใช้ได้จริง เป็นนิรันดร์ และเหมาะกับสภาพการณ์ในปัจจุบันมากที่สุด”
(จาก Asiatimes)
• ชาวจีนนิยมจัดพิธีศพสัตว์เลี้ยง เตรียมเปิดบริการระดับหรู
จีน : ที่เห็นในภาพคือ เจ้าหน้าที่รับจัดพิธีศพให้สัตว์เลี้ยงแห่งหนึ่งในเขตมินฮัง นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน กำลังยกหีบศพสุนัขไปยังรถบรรทุกศพที่ติดรูปของมันไว้ด้านหน้ารถ
ทั้งนี้ พิธีศพของสัตว์เลี้ยง มีขั้นตอนและพิธีกรรมเช่นเดียวกับงานศพคน ไม่ว่าจะเป็นการจัดเตรียมศพ การบรรจุโลง การจัดพิธีทางศาสนา การเผา และท้ายสุดคือ จัดพิธีรำลึก ซึ่งเถ้ากระดูกของสัตว์เลี้ยง สามารถนำไปที่วัด เพื่อทำพิธีทางพุทธศาสนาได้เช่นกัน
ซู จินเซีย เจ้าของบริษัทรับจัดพิธีศพสัตว์เลี้ยงดังกล่าว ซึ่งเริ่มต้นธุรกิจนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เผยว่า ตอนแรกยากมากที่จะชักชวนชาวจีนให้หันมาใช้บริการ อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆนี้ ความต้องการใช้บริการจัดพิธีศพสัตว์เลี้ยงได้พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเขากำลังคิดที่จะเปิดให้บริการในระดับหรูหราเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน ค่าบริการอยู่ระหว่าง 500-9,000 หยวน (ราว 2,800-50,000 บาท)
(จาก Shanghaidaily)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 178 ตุลาคม 2558 โดย เภตรา)