xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มพันธมิตรลุยแฟรนไชส์ KFC ยันไร้ปัญหากับซีอาร์จี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางแววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล ผู้จัดการทั่วไป ประจำประเทศไทย บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้บริหารร้านเคเอฟซีและพิซซ่าฮัท ในไทย
ASTVผู้จัดการรายวัน - ยัมฯ ปรับยุทธศาสตร์รุก “เคเอฟซี” ดึงพันธมิตรเพิ่มอีกรายช่วยขยายสาขา หวังตามเป้าหมาย 800 แห่งในปี 2563 จากขณะนี้มีรวม 532 สาขา ยันไร้ปัญหากับซีอาร์จี หวังสร้างความรวดเร็วในการรุก คาดอีก 6 เดือนเปิดตัวได้

นางแววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล ผู้จัดการทั่วไป ประจำประเทศไทย บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้บริหารร้านเคเอฟซีและพิซซ่าฮัท ในไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ทำเรื่องไปยังบริษัทแม่ของยัมเพื่อที่จะวางกลยุทธ์รุกของเคเอฟซีที่ทำตลาดมานานในไทยกว่า 31 ปีแล้ว โดยจะเปิดรับพันธมิตรรายใหม่เข้ามาร่วมมือในการขยายสาขาเคเอฟซี จากเดิมที่มียัมฯ ดำเนินการร่วมกับพันธมิตรเดิมคือ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี ที่ทำร่วมกันมานาน 31 ปี เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายภายในปี 2020 ที่จะมีเคเอฟซี 800 สาขาในไทย

กลยุทธ์นี้เปิดกว้างสำหรับผู้ที่สนใจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไร แต่ต้องมีความพร้อมในการลงทุนและดำเนินการ โดยบริษัทฯ จะโอนสาขาเคเอฟซีเดิมประมาณ 120-150 สาขา ให้พันธมิตรใหม่ที่จะเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ และพันธมิตรใหม่ก็สามารถขยายสาขาใหม่ๆ ได้ ส่วนรายละเอียดอยู่ระหว่างการวางรูปแบบ เตรียมเพื่อเจรจากับผู้สนใจในภายหลัง คาดว่าขั้นตอนต่างๆ จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดตัวพันธมิตรใหม่ได้ในอีก 6 เดือนจากนี้

อย่างไรก็ตาม ยัมฯ ได้เจรจาแนวทางดังกล่าวนี้กับซีอาร์จีแล้วว่าจะทำให้แบรนด์มีความแข็งแกร่งและมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วด้วย รวมทั้งการแข่งขันในปัจจุบันก็รุนแรง ซึ่งทางซีอาร์จีก็เข้าใจเพราะเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันมานาน ซึ่งปัจจุบันทางยัมฯ จะเปิดสาขาต่อเนื่องอีกเช่นเดิม จากปัจจุบันมีประมาณ 320 สาขา และเป็นของทางซีอาร์จี 202 สาขาที่เน้นเปิดในพื้นที่ค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัลเป็นหลัก ส่งผลให้มีรวมทั้งหมด 532 สาขา เป็นผู้นำในตลาดคิวเอสอาร์ ส่วนคู่แข่งเช่น แมคโดนัลด์มีประมาณ 220 สาขา เชสเตอร์ประมาณ 200 สาขา

iframe src="//www.facebook.com/plugins/likebox.php?href=https%3A%2F%2Fwww.facebook.com%2Fmarketingnews.astv&width=292&height=290&show_faces=true&colorscheme=light&stream=false&border_color&header=true" scrolling="no" frameborder="0" style="border:none; overflow:hidden; width:292px; height:290px;" allowTransparency="true">



ส่วนแผนขยายสาขาเคเอฟซีเดิมโดยเฉลี่ยใช้งบลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท แยกเป็น 1,300 ล้านบาทเป็นของยัมฯ เปิด 40 สาขาต่อปี ส่วนอีก 700 ล้านบาทเป็นงบรวมกับซีอาร์จีทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ การตลาด โดยสัดส่วนการลงทุนและขยายสาขาต่อปีแบ่งเป็น ยัมฯ 65% และซีอาร์จี 35% ล่าสุด 5 เดือนแรกปีนี้ยัมฯ เปิดสาขาไปแล้ว 10 สาขา

รูปแบบการขยายของเคเอฟซีในต่างประเทศมีหลายแบบ เช่น ในเอเชียส่วนใหญ่จะเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์รายเดียว เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ หรือในอินเดียมีทั้งยัมฯ และพาร์ตเนอร์ รัสเซียก็มีทั้งยัมฯ และพาร์ตเนอร์ ล่าสุดที่พม่าที่เพิ่งเปิดก็มีพาร์ตเนอร์รายเดียวรับสิทธิ์หลังจากที่มีผู้สนใจสมัครมามากกว่า 200 ราย

“เมื่อเราใช้กลยทธ์นี้แล้วจะทำให้เรามีความแข็งแกร่งและขยายตัวได้เร็วมากขึ้น ขณะที่ทีมงานของยัมฯ เองก็จะเน้นไปที่กลยุทธ์ที่สอง คือ การสร้างนวัตกรรมใหม่ การสร้างแบรนด์ การปรับปรุงการบริการ การวางระบบต่างๆ ให้ดีขึ้นได้เต็มที่ เช่น การพัฒนาความสามารถในการสั่งซื้อและรับอาหาร หรือ SOP จากเดิมรับออเดอร์ได้ 41 คนต่อชั่วโมงต่อเคาน์เตอร์ เพิ่มเป็น 83 คนต่อชั่วโมงต่อเคาน์เตอร์ ทดลองไปแล้ว 7 สาขา คาดว่าสิ้นปีนี้จะขยายได้ครบทุกสาขา รวมไปถึงการขยายสาขาแบบไดรฟ์ทรู ที่มีแล้ว 10 สาขา จะให้ครบ 100 สาขาในปี 2563”

การพัฒนาระบบดีลิเวอรีที่มีสัดส่วนยอดขาย 9% ในช่วง 2 ปีนี้ โดยที่ 36% จากยอดดีลิเวอรีมาจากการสั่งผ่านทางออนไลน์ และล่าสุดพัฒนาระบบอีคอมเมิร์ซการสั่งซื้อออนไลน์ให้ดีขึ้นอีก ปัจจุบันมีบริการดีลิเวอรี 231 สาขา

นางแววคนีย์กล่าวว่า ช่วง 5 เดือนแรกปี 2558 เคเอฟซีมียอดขายเติบโต 8% และมีแชร์เพิ่มเป็น 53% จากเดิม 51% ในตลาดคิวเอสอาร์ ตั้งเป้าหมายทั้งปีนี้จะเติบโต 10% ซึ่งจากนี้คงต้องทำโปรโมชัน และออกเมนูให้มีความถี่มากขึ้นเพื่อกระตุ้นลูกค้า เนื่องจากกำลังซื้อยังไม่ค่อยดีนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น