“พาณิชย์” นำแฟรนไชส์ไทยบุกเปิดตลาด AEC คัด 10 ธุรกิจเด่นที่ผ่านการฝึกอบรม เจาะตลาดอินโดนีเซีย เตรียมเจรจาปักธงสยายปีกธุรกิจบริการ อาหาร และเครื่องดื่ม คิวต่อไปเตรียมลุยกัมพูชา มั่นใจเปิดตลาดได้เพิ่มขึ้นแน่ ส่วนยอดรวมแฟรนไชส์ไทยโกอินเตอร์ ล่าสุดมี 17 ธุรกิจ เปิดสาขาแล้วใน 41 ประเทศ
น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เตรียมนำผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการฝึกอบรม และพัฒนาจนผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพออกไปขยายตลาดในต่างประเทศ โดยล่าสุดได้คัดเลือกผู้ประกอบการจำนวน 10 รายที่มีศักยภาพเดินทางไปเข้าร่วมงานแสดงธุรกิจและเจรจาธุรกิจ IFRA 2015 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 28 พ.ค.-2 มิ.ย. 2558 เพื่อเปิดตลาดแฟรนไชส์ไทยเข้าสู่ตลาดอาเซียนให้ได้เพิ่มมากขึ้น และยังเป็นการใช้ประโยชน์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
ทั้งนี้ แฟรนไชส์ไทย 10 ราย ได้แก่ 1. โมลี แคร์ ซึ่งเป็นธุรกิจคาร์แคร์ ให้บริการล้างสี ดูดฝุ่น และเคลือบสีรถยนต์ 2. ซุปเปอร์ เค ธุรกิจร้านค้าเสื้อผ้าแฟชั่น 3. ซูกิชิ โตเกียว บุฟเฟ่ต์ ธุรกิจอาหารญี่ปุ่น 4. พีซีไอ ธุรกิจให้บริการรักษาความปลอดภัย 5. พลู โปรแอนด์แล็บ ธุรกิจให้บริการดูแลคุณภาพน้ำและผลิตภัณฑ์สระน้ำครบวงจร 6. เมซโซ่ ธุรกิจเครื่องดื่ม 7. โรงเรียนกวดวิชาและภาษาบ้านวิชากร 8. เอ็น แอนด์ บี แพนเค้ก ธุรกิจเบเกอรี 9. ฮอกไกโด มิลค์ ธุรกิจเครื่องดื่ม และ 10. ศูนย์ศิลปะ 3 มิติ เคลเวิร์คส
“ธุรกิจที่กรมฯ นำพาไปในครั้งนี้เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ และมั่นใจว่าจะเปิดตลาดในอินโดนีเซียได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน และจากนั้นมีแผนที่จะคัดเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีศักยภาพไปเปิดตลาดในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ต่อไป โดยแผนต่อไปจะไปยังกัมพูชา ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดตลาดได้เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน” น.ส.ผ่องพรรณกล่าว
น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า จนถึงขณะนี้กรมฯ สามารถผลักดันให้ธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยออกไปขยายตลาดในต่างประเทศทั้งในอาเซียนและประเทศต่างๆ ได้แล้วรวม 17 ธุรกิจ จำนวน 41 ประเทศ และตั้งเป้าที่จะผลักดันให้มีการออกไปขยายธุรกิจให้ได้เพิ่มมากขึ้น เพราะตั้งแต่กรมฯ ได้ดำเนินการสร้างธุรกิจแฟรนไชส์มาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปี 2558 ได้พัฒนาธุรกิจเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์แล้ว 17 รุ่น มีจำนวน 604 ราย และในจำนวนนี้ได้ผลักดันให้เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพได้แล้ว 159 ราย
สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ 17 รายที่ออกไปทำตลาดต่างประเทศ แยกเป็นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 6 ราย ได้แก่ Black Canyon ไปอินโดนีเซีย ลาว ฟิลิปปินส์ พม่า สิงคโปร์ ยูเออี กัมพูชา และมาเลเซีย Neo Suki ไปเวียดนาม อินโดนีเซีย The Coffee Maker ไปกัมพูชา ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยแม่ศรีวรรณ ไปพม่า และออสเตรเลีย โชคดี ติ่มซำ ไปพม่า อีซีส์ EZ’s ไปลาว
กลุ่มบริการ 1 ราย ได้แก่ Moly Care ไปลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม และภูฏาน
กลุ่มการศึกษา 2 ราย ได้แก่ Smart Brain ไปปากีสถาน คูเวต ซาอุดีอาระเบีย ตูนีเซีย กัมพูชา อังกฤษ จีน อินเดีย นิวยอร์ก สิงคโปร์ Smart Englist ไปอินโดนีเซีย
กลุ่มความงามและสปา 5 ราย ได้แก่ Aromavera Spa ไปบังกลาเทศ จีน ออสเตรีย Bontras ไปยูเออี ซาอุดีอาระเบีย อังกฤษ เวียดนาม ฮ่องกง มาเลเซีย จีน พม่า มาเก๊า สิงคโปร์ กานา โอมาน โปรตุเกส Greentouch สุดธนา ไปกัมพูชา Spa of Siam ไปจีน พัชรสภา ไปอิตาลี
กลุ่มค้าปลีก 3 ราย ได้แก่ Index Living Mall ไปเวียดนาม เนปาล มัลดีฟส์ ตุรกี กาตาร์ บาห์เรน โอมาน จอร์แดน อียิปต์ ปากีสถาน ลาว พม่า ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ เปรู บราซิล ศรีลังกา อินเดีย รัสเซีย บังกลาเทศ กาตาร์ Nobody Jean ไปเวียดนาม และ Wongpanit ไปมาเลเซีย สิงคโปร์ จีน อินเดีย
ปัจจุบันมีธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยจำนวน 1,555 ราย แยกเป็นการศึกษา 83 ราย ความงามและสปา 83 ราย ค้าปลีก 589 ราย บริการ 353 ราย อาหารและเครื่องดื่ม 447 ราย