เอเจนซีส์ - ตูนิเซียแถลงว่าจะจัดกำลังทหารไปประจำรักษาการณ์ตามเมืองใหญ่ๆ อีกทั้งสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยเอาไว้ 9 คน ภายหลังเกิดเหตุมือปืนหัวรุนแรงบุกเข้าไปกระหน่ำยิงกราดในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเมื่อวันพุธ (18 มี.ค.) ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 21 คน ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20 คน ถือเป็นการโจมตีครั้งร้ายแรงที่สุดซึ่งเกิดขึ้นในประเทศแอฟริกาเหนือแห่งนี้ในรอบระยะเวลากว่า 1 ทศวรรษ
เหตุร้ายคราวนี้เกิดขึ้นในราวเที่ยงวันพุธ (18) เมื่อมือปืนอย่างน้อย 2 คนซึ่งแต่งกายชุดทหาร ได้เปิดฉากยิงเข้าใส่รถทัวร์ 2 คันที่พานักท่องเที่ยวเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติบาร์โด ซึ่งตั้งอยู่ภายในเขตอาคารรัฐสภาที่มีการรักษาการณ์อย่างแน่นหนา จากนั้นก็ไล่ตามกระหน่ำยิงพวกเขาภายในพิพิธภัณฑ์
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ยิงมือปืนผู้ก่อเหตุตายไป 2 คน และต่อมาทางการตูนีเซียสามารถระบุอัตลักษณ์ของบุคคลทั้งสองว่าเป็นชาวตูนิเซีย ชื่อ ฮาเตม อัล-คัชนาวี กับ ยัสซิน อัล-อาบีดี โดยเฉพาะคนหลังนี้ นายกรัฐมนตรี ฮาบิบ เอสซิด บอกว่า เป็นผู้ที่ถูกทางการเฝ้าติดตามพฤติการณ์อยู่ ทว่า “ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษมากมาย”
ขณะเดียวกัน ทำเนียบประธานาธิบดีออกคำแถลงระบุว่า นอกจากคนร้าย 2 คนที่ถูกยิงตายแล้ว กองกำลังความมั่นคงยังสามารถจับกุมบุคคล 4 คนซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการปฏิบัติการก่อการร้ายคราวนี้ และรวบตัวบุคคลอีก 5 คนซึ่งต้องสงสัยว่ามีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับกลุ่มคนร้ายนี้
คำแถลงยังบอกด้วยว่า หลังจากประชุมหารือกับทางกองทัพแล้ว ประธานาธิบดีเบจี คาอิด เอสเซบซี ตัดสินใจให้กองทัพบกส่งกำลังทหารเข้าดูแลรักษาความมั่งคงตามเมืองใหญ่ๆ
ขณะที่ประธานาธิบดียังออกมาประกาศในวันพฤหัสบดี (19) ว่า ตูนีเซียจะต่อสู้อย่างไม่ปรานีจนลมหายใจสุดท้ายกับกลุ่มก่อการรายที่ก่อเหตุในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองตูนิส คราวนี้
ทางด้านรัฐมนตรีสาธารณสุข ซาอิด อัยดี แถลงในวันพฤหัสบดีว่า จากเหตุร้ายคราวนี้ได้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตไป 20 คน โดยเท่าที่จำแนกได้นั้น เป็นชาวญี่ปุ่น 3 คน, สเปน 2 คน, ฝรั่งเศส 2 คน, และเป็นชาวออสเตรเลีย, สตรีชาวอังกฤษ, สตรีชาวเบลเยียม, ชาวโปแลนด์ และชาวอิตาลี อีกชาติละ 1 คน
เขากล่าวอีกว่า มีตำรวจคนหนึ่งถูกฆ่าตาย แต่ไม่ได้เอ่ยถึงเหยื่อที่เป็นชาวตูนิเซียคนที่ 2 ซึ่งพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบหลายรายเคยระบุก่อนหน้านี้ว่าเสียชีวิตไปด้วย
นอกจากนั้น ตามรายงานก่อนหน้านี้ ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 44 คน ในจำนวนนี้มีทั้งพลเมืองฝรั่งเศส ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ โปแลนด์ และอิตาลี
เหตุการณ์นี้ถือเป็นการโจมตีชาวต่างชาติครั้งร้ายแรงที่สุดในตูนิเซีย นับแต่ที่มีมือระเบิดฆ่าตัวตายของอัลกออิดะห์ก่อเหตุในโบสถ์ยิวบนเกาะดีเจอร์บา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 21 รายในปี 2002
ภายหลังเกิดเหตุในวันพุธ ได้มีชาวตูนิเซียหลายร้อยคนออกไปชุมนุมตามสี่แยกสำคัญในเมืองหลวง และร้องเพลงชาติพร้อมตะโกนต่อต้านผู้ก่อเหตุโดยระบุว่า เป็นผู้ก่อการร้าย
เหตุร้ายนี้ยังเรียกเสียงวิจารณ์รุนแรงจากทั่วโลก จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ประณามว่า เป็นการก่อความรุนแรงเพื่อมุ่งทำลายล้าง ขณะที่นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนของอังกฤษ บอกว่า ตกตะลึงกับเหตุการณ์นี้ และประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ของฝรั่งเศส ประกาศยืนเคียงข้างตูนิเซีย
บัน คีมูน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ ประณามว่า เป็นการกระทำที่ “น่าสังเวช” และ “ชั่วร้าย” และแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวเหยื่อ
ขณะเดียวกัน คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นแถลงว่า การโจมตีของผู้ก่อการร้ายไม่สามารถขัดขวางเส้นทางสู่ประชาธิปไตยของตูนิเซีย
โมฮัมเหม็ด อาลี อารูอี โฆษกกระทรวงมหาดไทยตูนิเซีย แถลงต่อผู้สื่อข่าวในวันพุธว่า ผู้ก่อการร้าย 2 คนหรืออาจมากกว่านั้น พกปืนอาก้าและบุกเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ที่มีนักท่องเที่ยวอยู่ราว 100 คน สองชั่วโมงหลังจากนั้นหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายตูนีเซียจึงบุกเข้าไปและสามารถจัดการผู้ก่อการร้ายสำเร็จ ซึ่งรวมเวลานับจากเกิดเหตุคือ 4 ชั่วโมง
แม้ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาแสดงความรับผิดชอบเป็นผู้ก่อเหตุคราวนี้ แต่ตูนิเซียทุกวันนี้ต้องเผชิญการโจมตีหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ จากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงหลายกลุ่ม เป็นต้นว่า กลุ่มอันซาร์ อัล ชารีอะห์ ซึ่งถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำว่าเป็นผู้ก่อการร้าย และกลุ่ม โอคบา อิบน์ นาฟา ที่เป็นกองกำลังอาวุธที่มีสายสัมพันธ์กับอัลกออิดะห์ และกำลังปฏิบัติการอยู่ตามแนวชายแดนติดต่อกับแอลจีเรีย
ไซต์ อินเทลลิเจนซ์ กลุ่มติดตามความเคลื่อนไหวทางออนไลน์ของขบวนการก่อการร้ายทั่วโลกเปิดเผยว่า บัญชีทวิตเตอร์ที่เชื่อมโยงกับอิฟริกิยาห์ มีเดีย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยกย่องการโจมตีครั้งนี้และที่ผ่านมามักเผยแพร่สารจากกลุ่มหัวรุนแรงในตูนิเซีย ได้โพสต์สิ่งที่ทางกลุ่มอ้างว่าเป็นรายละเอียดการโจมตี รวมทั้งเรียกร้องให้ชาวมุสลิมโจมตีนักท่องเที่ยว แต่ไม่ได้ระบุว่ากลุ่มใดอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้
ขณะเดียวกัน โบครา เบลฮัจ เอชมิดา สมาชิกรัฐสภาตูนิเซียเผยว่า ขณะนี้เชื่อว่า มีผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายราว 2,000 คนอยู่ในตูนิเซีย ซึ่งหลายคนในจำนวนนี้เป็นพวกกลับจากไปร่วมรบกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในอิรักและซีเรีย
ทั้งนี้ ประชาชนในตูนิเซียได้โค่นล้มผู้นำเผด็จการในปี 2011 และเป็นจุดเริ่มต้นของกระแส “อาหรับสปริง” ที่ลุกลามไปทั่วภูมิภาค และแม้เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งประชาธิปไตยในประเทศนี้ แต่ตูนิเซียยังคงต้องฝ่าฟันมรสุมเศรษฐกิจ การโจมตีพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้ยังมีแนวโน้มสร้างปัญหาใหม่ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เพิ่งฟื้นตัวได้ไม่นาน