รอยเตอร์/เอเอฟพี - กลุ่มมือปืนในชุดเครื่องแบบทหารบุกจู่โจมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติตูนิเซียเมื่อวันพุธ (18 มี.ค.) สังหารนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 17 ราย และชาวตูนิเซีย 2 คน หนึ่งในเหตุโจมตีครั้งเลวร้ายที่สุดของประเทศที่กระตุ้นให้ประธานาธิบดีเบจิ คาอิด เอสเซบซี ต้องรุดมาประกาศกร้าวจะใช้มาตรการต่างๆป้องกันเหตุร้ายซ้ำรอย
ฮาบิบ เอสซิด นายกรัฐมนตรีของตูนิเซีย เปิดเผยว่า ในบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติที่เสียชีวิตในเหตุจู่โจมตอนเที่ยงวัน ณ พิพิธภัณฑ์บาร์โด ใกล้รัฐสภา ย่านในกลางกรุงตูนิส มีทั้งชาวอิตาลี เยอรมนี โปแลนด์และสเปน พร้อมประกาศว่า “ประชาชนชาวตูนิเซียทุกคนควรเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหลังเหตุโจมตีนี้ ซึ่งมีเป้าหมายทำลายเศรษฐกิจของตูนิเซีย”
โฆษกรัฐบาลเปิดเผยว่า กองกำลังความมั่นคงบุกจู่โจมเข้าไปยังพิพิธภัณฑ์ ราว 2 ชั่วโมงให้หลัง ก่อนวิสามัญฆาตกรรมนักรบ 2 ราย และช่วยเหลือนักท่องเที่ยวคนอื่นๆที่ถูกจับเป็นตัวประกันอยู่ภายใน อย่างไรก็ตาม มีตำรวจ 1 นายเสียชีวิตในปฏิบัติการดังกล่าว
นางเฟเดริกา โมเกรินี หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ระบุว่าพวกนักรบรัฐอิสลาม (ไอเอส) ซึ่งเริ่มเข้ามาเคลื่อนไหวในลิเบียชาติเพื่อนบ้าน อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีครั้งนี้ “อียูมีความตั้งใจระดมสรรพกำลังทุกอย่างที่มีสำหรับให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่แก่ตูนิเซียในการต่อสู้ต่อต้านก่อการร้าย”
ด้านประธานาธิบดีคาอิด เอสเซบซี ของตูนิเซีย กล่าวระหว่างเข้าเยี่ยมเหยื่อเหตุมือปืนบุกจู่โจมพิพิธภัณฑ์ ฆ่านักท่องเที่ยวต่างชาติ 17 คน ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ว่ารัฐบาลจะใช้ทุกมาตรการ เพื่อป้องกันเหตุโจมตีรอบใหม่ พร้อมประณามการโจมตีดังกล่าวว่าเป็นอาชญากรรมที่น่าขยะแขยง
ภาพข่าวสถานีโทรทัศน์เผยให้เห็นผู้คนหลายสิบคน ในนั้นรวมถึงเหล่าชาวต่างชาติในวัยชราและชายคนหนึ่งกำลังอุ้มเด็ก พากันวิ่งหลบหนีไปยังที่ปลอดภัย โดยมีกองกำลังความมั่นคงเล็งปืนไรเฟิลสอดส่องขึ้นไปเบื้องบนเพื่อคอยคุ้มกันให้
เหตุโจมตีต่อเป้าหมายที่มีชื่อเสียงครั้งนี้ ได้ก่อความเสียหายแก่ประเทศเล็กๆในแอฟริกาเหนือแห่งนี้ที่ต้องพึ่งพึงการท่องเที่ยวจากยุโรปเป็นอย่างมาก หลังจากที่ผ่านมา ตูนิเซีย รอดพ้นจากเหตุความรุนแรงเลวร้ายจากฝีมือของพวกนักรบมาโดยตลอด นับตั้งแต่เกิดการลุกฮือของประชาชนโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีเอล อาบิดีน เบน อาลี เมื่อปี 2011
เหตุลุกฮือของตูนิเซียได้แรงบันดาลใจจากการปฏิวัติ “อาหรับ สปริง” ในเหล่าชาติเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นลิเบีย อียิปต์ ซีเรียและเยเมน แต่ด้วยที่พวกเขารับเอารัฐธรรมนูญใหม่และจัดการเลือกตั้งอย่างสันติที่ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวาง สถานการณ์ในประเทศจึงมั่นคงต่างจากประเทศอื่นๆที่ดำดิ่งสู่ความยุ่งเหยิง
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ยังไม่ระบุว่าพวกมือปืนที่ก่อเหตุนั้นเป็นใคร แต่พวกนักรบอิสลามิสต์หลายๆกลุ่มปรากฏขึ้นในตูนิเซียนับตั้งแต่การลุกฮือ และทางการคาดหมายว่ามีชาวตูนิเซียราว 3,000 คน เข้าร่วมรบเคียงข้างพวกนักรบในอิรักและซีเรีย ก่อความกังวลว่าคนเหล่านั้นจะกลับมาก่อเหตุโจมตีในมาตุภูมิ
“พวกก่อการร้ายนิรนาม 2 คนในชุดเครื่องแบบทหาร เข้าไปในอาคารรัฐสภา จากนั้นก็ไปยังพิพิธภัณฑ์และลงมือโจมตีนักท่องเที่ยว มีผู้เสียชีวิต 19 คน ในนั้นเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 17 คน และมีนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ได้รับบาดเจ็บอีก 22 คน” นายกรัฐมนตรีเอสซิดกล่าว
ด้านคนงานของพิพิธภัณฑ์บาร์โด บอกกับรอยเตอร์ ว่า “นักรบ 2 คนกราดยิงเข้าใส่นักเที่ยวตอนที่พวกเขากำลังลงจากรถบัส ก่อนหลบหนีเข้าไปยังพิพิธภัณฑ์” ส่วนเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศอิตาลีในกรุงโรม เผยว่ามีชาวอิตาลีได้รับบาดเจ็บ 2 ราย แต่นักท่องเที่ยวอิตาลีคนอื่นๆ อีกราว 100 คนซึ่งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือจากตำรวจตูนิเซียที่พาไปยังจุดปลอดภัย
เหตุจู่โจมเมื่อวันพุธ (18 มี.ค.) ถือเป็นการโจมตีที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติครั้งเลวร้ายที่สุดของตูนิเซีย นับตั้งแต่สมาชิกอัลกออิดะห์รายหนึ่งจุดชนวนระเบิดฆ่าตัวตายถล่มโบสถ์ยิวแห่งหนึ่งบนเกาะท่องเที่ยว “เจอร์บา” ในปี 2002 คร่าชีวิตผู้คน 21 ศพ