xs
xsm
sm
md
lg

Top business Influencer ปลา-อัจฉรา บุรารักษ์ เซเลบนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จที่สุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


>>เมื่อพูดถึงการสร้างความสำเร็จบนเส้นทางธุรกิจ ตัวแปรของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป บางคนถือได้ว่ามีต้นทุนชีวิตสูงหรือมีบุญเก่าดี มีกิจการที่บรรพบุรุษสร้างไว้อย่างมั่นคงมาให้สานต่อ แต่สำหรับ “ปลา-อัจฉรา บุรารักษ์” หรือที่คุ้นชินกันในนาม “ปลา ไอเบอร์รี่” ที่เรายกให้เป็นสุดยอดของนักธุรกิจหญิงนั้น เพราะเธอเริ่มต้นจากศูนย์ และใช้เพียงมันสมองและสองมือของตัวเอง สร้างธุรกิจจากกิจกรรมสุดโปรดแสนสนุกอย่างการทำอาหารและขนม ให้กลายมาเป็นกิจการที่ประสบความสำเร็จมีหลายสิบสาขาอย่างในทุกวันนี้

ถ้าถามเหล่าวัยรุ่น หนุ่มสาวรุ่นใหม่ ให้ลิสต์รายชื่อร้านอาหารโปรด เชื่อได้ว่าในลิสต์นั้น ต้องมีชื่อร้าน อย่าง ไอเบอร์รี่, กับข้าวกับปลา, รส’นิยม หรือ แซ่บอีลี่ ติดอยู่ในผลสำรวจเป็นแน่ ด้วยเมนูอาหารรสเลิศ ถูกปากคนไทย บวกกับบรรยากาศร้านที่ออกแบบมาได้น่านั่ง อย่างมีสไตล์ไม่ซ้ำแบบใคร ซึ่งทุกองค์ประกอบที่กล่าวมานี้ถูกถ่ายทอดออกมาจากตัวตนและความคิดสร้างสรรค์ของสาวเก่งคนนี้

เจ้าแม่ร้านอาหาร

ตั้งแต่หุ้นกับพี่ชายเปิดร้านไอศกรีมเล็กๆ ในชื่อ Iberry ในปี 2542 ทุกวันนี้ “ปลา-อัจฉรา บุรารักษ์” นับเป็นนักธุรกิจแถวหน้าของแวดวงร้านอาหาร ด้วยสายตาที่เฉียบคมด้านการตลาด การตีโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และหัวครีเอทีฟที่สามารถสร้างเทรนด์ นำเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้กับเหล่านักชิมชาวไทยได้อยู่เสมอ จนทุกวันนี้เธอเป็นเจ้าของร้านอาหารและเครื่องดื่มมากถึง 5 แบรนด์ ทั้ง Iberry, รส’นิยม, กับข้าวกับปลา, แซ่บอีลี่ และร้านชานม Cha Cha Cha ซึ่งรวมแล้วมีสาขาถึงกว่า 30 แห่ง นี่ยังไม่รวมคลินิกความงามในชื่อ Scarlett ที่ร่วมหุ้นกับดารา นักร้องชื่อดัง “มาช่า วัฒนพานิช” อีกด้วย

อัจฉราเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของการก้าวเดินในฐานะเจ้าของกิจการว่า “แรกเริ่มเลย ตอนเรียนจบปริญญาตรีมาใหม่ๆ ปลาก็เหมือนคนอื่นทั่วไปสมัครงานบริษัทต่างๆ มีไปเป็นแอร์อยู่ช่วงหนึ่ง แล้วก็กลับมาทำงานตรงกับสายวิชาที่เรียนมาคือนิเทศศาสตร์ ไปเป็นพีอาร์โรงแรม ที่เป็นช่วงค้นหาตัวเองเพราะยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร เหมาะกับอะไร มีโอกาสอะไรมาก็ลองเข้าไปทำดูแล้วก็รู้ว่า ไม่ชอบงานสไตล์นั้น เพราะเราต้องไปทำความรู้จักกับคนโน้นคนนี้ ซึ่งปลามีโลกส่วนตัวสูง ไม่ค่อยชอบยุ่งกับคนเยอะ ติสต์ไง(หัวเราะ) ก็เลยทำอยู่ไม่นาน แล้วก็เริ่มคิดว่าเราอยากทำอะไรกันแน่

ตอนนั้นคิดเยอะเลยนะ คือตัวเองชอบด้านออกแบบ ชอบงานดีไซน์ คิดว่าจะทำไปทางแฟชั่นเลยดีไหม หรือจะไปทางไหนดี เหมือนเรายังไม่รู้จักตัวเองดีว่า ชอบทำอะไร หรืออยากเป็นอะไรกันแน่”

จากงานอดิเรกสู่การสร้างอาชีพ

สุดท้ายแล้ว สาวปลาตัดสินใจเอางานอดิเรกที่เราชอบมาทำเป็นอาชีพ นั่นคือการทำขนม ทำไอศกรีม
“คือที่บ้านไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับธุรกิจด้านอาหารเลยนะ แต่คุณแม่เป็นคนทำอาหารอร่อย แล้วเราก็ชอบเข้าครัวไปช่วยคุณแม่หยิบจับทำอาหารมาตั้งแต่เด็กๆ เวลาเรียนก็จะสนุกกับการเรียนวิชาคหกรรม ชอบทำอาหาร แต่ก็เป็นเหมือนกิจกรรมโปรดเฉยๆ ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้เอามาเป็นอาชีพเลย

ตอนเด็กๆ เคยคิดเหมือนกันว่าอยากเปิดร้านไอติม ร้านขนม ร้านอาหาร แต่นั่นก็แค่คิดฝันสนุกๆ ไม่ได้จริงจังอะไร ตอนแรกที่คิดจะเปิดร้าน มันมาจากทำสนุกๆ แล้วเอาไปให้เพื่อนชิม ทุกคนบอกอร่อย ยุให้ทำไปส่งตามร้านบ้าง ยุให้เปิดร้านบ้าง ก็เลยเกิดเป็นร้านไอศกรีม IBerry สาขาแรกขึ้นในซอยสุขุมวิท 24”

เพิ่งเปิดร้านได้ไม่นาน ความโด่งดังก็เข้ามาสู่เจ้าของร้านสาวสวยคนนี้อย่างรวดเร็ว Iberry เป็นร้านไอศกรีมที่ได้รับความนิยมสูง เรียกได้ว่าในยุคนั้นร้านไอศกรีมไหนจะดังและฮิปเท่าร้านนี้เป็นไม่มี

“สมัยนั้นมันยังไม่มีไอศกรีมสไตล์โฮมเมดเท่าไรนะ นั่นคือเมื่อ 15 ปีที่แล้วนะ ไม่เหมือนทุกวันนี้ ตอนนั้นทุกคนจะรู้จักแต่ร้านไอศกรีมที่เป็นแบรนด์ใหญ่ๆ ร้านปลาเลยกลายเป็นจุดเด่น ยิ่งเราเน้นการนำผลไม้ไทยมาทำเป็นไอศกรีมรสต่างๆ มันแปลกใหม่ เป็นที่ฮือฮา ทำให้สื่อมาถ่ายเยอะ เลยทำให้เป็นที่รู้จัก”

ตอนแรกเริ่มอัจฉราบอกว่า เธอเป็นแค่แม่ครัวที่ชอบทำขนม เปิดร้านเพราะรักที่อยากจะเผยแพร่ของอร่อยให้คนอื่นชิม โดยไม่ได้มีแนวคิดเรื่องธุรกิจอยู่ในหัวเลย ในร้านแรกเธอทำเองทุกอย่าง มีลูกมือเพียง 2-3 คน แล้วค่อยพัฒนามาเรื่อยๆ ขยายสาขา จนกลายเป็นบริษัทแบบเต็มรูปแบบ จนทุกวันนี้เธอมีพนักงานมากกว่า 400 คน มีร้านหลายสิบสาขา ซึ่งทุกอย่างอาศัยเวลาและการเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่เคยไปเรียนหรือเข้าคอร์สใดๆ

“ปลาค่อยๆ ทำ ค่อยๆ เรียนรู้ไป โดยขอคำแนะนำจากรุ่นพี่ คนรู้จัก แต่ก่อนเรารู้แค่การผลิต กับการประชาสัมพันธ์ตามที่เรียนมา ไม่รู้เรื่องการบริหาร การเงิน บัญชี อะไรเลย ก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้ไป คำแนะนำและประสบการณ์จริงจะคอยสอนเราเอง ทุกวันนี้เวลามีคนมาเชิญให้ไปบรรยาย ไปพูดเรื่องการทำธุรกิจนี่ เกร็งนะ เพราะเราไม่รู้พวกทฤษฎีอะไรพวกนั้นเลย”

รับบทหนักในฐานะเจ้าของกิจการ

การเป็นเจ้าของกิจการไม่ใช่งานง่ายๆ ยิ่งสำหรับสาววัย 23 ปี ที่เพิ่งก้าวขาออกจากรั้วมหาวิทยาลัยมาไม่กี่ปี ยิ่งนับเป็นภารกิจที่หนักอึ้ง
“การเปิดสาขาที่ 2,3,4 กับสาขาแรกนี่ ความรู้สึกต่างกันมากเลยนะ จากเริ่มทำเพราะแค่สนุก คิดหนักหน่อยก็เรื่องสูตร เรื่องตั้งราคา แต่พอเริ่มขยายกิจการ มันกลายเป็นเรื่องจริงจัง ก็มีอะไรให้เราคิดเยอะมาก จะจัดส่งยังไง คุมคุณภาพยังไง และที่สำคัญคือเรื่องพนักงาน เพราะร้านอาหารมันคือการบริการ เราก็ต้องฝึกพนักงานดีๆ

ยิ่งตอนนั้นปลายังเด็กมาก เป็นผู้หญิงด้วย อายุ 23 นี่ แค่สัมภาษณ์คนมาสมัครงาน เขาเห็นหน้าเราแล้วคิดว่า เด็กจัง ความไม่เชื่อใจ หรือความนับถือมันก็เกิดยากไง นั่นก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก เราจะคุมเขาได้ยังไง”

ความรับผิดชอบในฐานะเจ้าของกิจการ มีปัญหาให้เธอต้องขบคิดตีโจทย์อยู่บ่อย “ตอนเปิดร้านแรกๆ ก็มีโจทย์ว่าทำยังไงให้แบรนด์ติดตลาด ซึ่งเป็นจุดที่ยากมากสำหรับแบรนด์ที่ไม่มีคนรู้จัก พอมันเริ่มติดตลาดก็เจออีกโจทย์ว่าจะทำยังไงให้มีมาตรฐาน พอเปิดมานานเป็น 10 ปีแบบนี้ ก็เจอโจทย์อีกว่าทำอย่างไรให้มันคงอยู่ไปได้อีก 10 ปี

เพราะต้องยอมรับว่า ทุกแบรนด์มันต้องมีขาขึ้นและขาลง เป็นสัจธรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่โชคดีอย่างหนึ่งที่ร้านปลาทุกร้านมีสไตล์ของเรา มีคอนเซ็ปต์ที่แตกต่าง คู่แข่งเราเลยไม่มากเท่าไร ถ้าเป็นร้านที่เปิดตามเทรนด์นี่ปลาคงไม่ไหว อันนี้เราเน้นที่การดูแลคุณภาพของเราแข่งกับเราต้องคอยปรับตัว พัฒนาอยู่ตลอด รักษาลูกค้าไว้ให้ได้ หาอะไรใหม่ๆ มาเสริม อย่างตอนแรกปลาทำแต่ร้านไอศกรีม ต่อมาเรามีร้านอาหาร มีร้านชา เป็นการต่อยอดไปเรื่อยๆ”

นักคิดคอนเซ็ปต์ สนุกกับการสร้างแบรนด์

จากความสำเร็จของร้าน Iberry เราก็เห็นสาวปลาสร้างความนิยมต่อเนื่องมายังร้านอาหารที่โดนใจคนรุ่นใหม่อีกเช่นกันอย่าง ร้านกับข้าวกับปลา และร้านรส’นิยม

“จุดเริ่มต้น 2 ร้านนี้ ก็เกิดจากความรักและไลฟ์สไตล์ส่วนตัวของปลาอีกเช่นกัน อย่างรส’นิยมนี่ เริ่มจากที่มีแม่ครัวคนนึงทำกวยจั๊บให้ปลากินแล้วมันอร่อยมากแล้วปลาก็รู้สึกว่า โหย! น่าขายเนอะ แล้วก็ไปเจอป้าอีกคนทำก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยอร่อยมาก เลยเกิดไอเดียว่า
ทำไมเราไม่ทำร้านก๋วยเตี๋ยวที่เอาเมนูเส้นหลายๆ ชนิดมารวมกัน ร้านพวกนี้มีมากมายอยู่ตามข้างทาง คนไทยก็ชอบกินแล้วทำไมไม่มีใครเอาพวกนี้มาทำเป็นแบรนด์เลย ก็เลยทำร้านรส’นิยม บรรยากาศแบบไทยๆ มีคอนเซ็ปต์แตกต่างจากร้านอาหารในห้างทั่วไป ซึ่งร้านอาหารมันก็มาเสริมกับร้านไอศกรีมได้อย่างลงตัว

เพราะของหวานอย่างไอศกรีมหรือขนมต่างๆ มันก็ไม่ได้รับประทานได้ตลอดทั้งวัน หรือบางคนมาร้านก็อยากจะกินของคาวให้อิ่มท้อง พอเราเปิดร้านอาหารก็เอาไอศกรีมมาลงด้วยได้ เป็นทางเลือกให้กับลูกค้าได้มากขึ้นด้วย”

อัจฉราบอกว่าเธอสนุกกับการวางคอนเซ็ปต์ของร้านต่างๆ ถนัดการสร้างแบรนด์ “ด้วยความที่เราเป็นคนชอบเรื่องดีไซน์ เรื่องออกแบบอยู่แล้ว ช่วงไหนที่เกิดไอเดียทำแบรนด์ใหม่จะสนุกมาก ได้คิดคอนเซ็ปต์ คือพูดตรงๆ ถ้าหากว่าไม่เหนื่อยหรือไม่ต้องเอาหัวไปบริหารร้านที่มีอยู่ ปลาสามารถทำได้อีกเยอะเลยเพราะปลายังมีไอเดียอีกมากมายอยู่ในหัว แต่ยังไม่มีเวลา และไม่มีแรงทำ เราชอบครีเอต แล้วก็ปล่อยให้คนอื่นทำ แล้วเราก็มาคิดอะไรใหม่ๆ ต่อ

อย่างตอนร้านแซ่บอีลี่ ตอนนั้นหุ้นส่วนก็มาปรึกษาว่าจะทำยังไงดี ปลาก็คิดเลยร้านอีสาน ส้มตำ ต้องทำนั่นนี่ คอนเซ็ปต์แบบนี้ พอทำเสร็จเราก็ให้น้องๆ บริหารกันไป ส่วนเราคอยดูอยู่ห่างๆ”

ปัญหาโลกแตกของเจ้าของร้านอาหาร

“เพราะสินค้าเราคือของกิน ดังนั้น มันจึงหลีกเลี่ยงการชิมไม่ได้ ชิมมาก กินมาก น้ำหนักก็มากขึ้นไปด้วย” นี่คือคำตอบของสาวปลา เมื่อเราถามว่าปัญหาใหญ่ในการทำงานของเธอคืออะไร

“ตอนนี้เลยเปิด สการ์เลตต์ (สถาบันความงาม The Scarlett Clinic อีกหนึ่งธุรกิจที่เธอร่วมลงทุนกับมาช่า วัฒนพานิช ดารา และนักร้องชื่อดัง) ด้วยไงคะ (หัวเราะ) ทุกวันนี้ปลาต้องดูแลมาตรฐานของสินค้า ตระเวนไปสาขาต่างๆ ดูทั้งเรื่องบริการ และรสชาติอาหารว่าคงที่ไหม แถมยังคอยคิดสูตรใหม่ๆ ทดลองเมนูใหม่ๆ ด้วย กินตลอดวันเลยก็ว่าได้ ปลาเลยลดความอ้วนไม่ค่อยลงสักที และห้ามป่วยด้วย เพราะลิ้นในการชิมรสสำคัญมาก ช่วงไหนป่วยนี่แย่เลย หงุดหงิดมาก เพราะชิมอะไรก็ไม่รู้รส”

แม้จะบ่นให้ฟังเรื่องปัญหาหนักอกที่ถือว่าเป็นปัญหาของสาวๆ ครึ่งค่อนโลก แต่สาวปลาก็ย้ำว่า เธอมีความสุขกับการทำงานในทุกวันนี้
“มีปัญหาบ้าง มีเหนื่อยบ้าง แต่มันมีความสุขมากกว่า วันไหนที่เหนื่อยหรือเครียด ก็เคยแอบคิดนะว่าเราจะมีความสุขมากกว่านี้ไหม ถ้าเลือกที่จะเป็นลูกจ้าง ทำงานบริษัท ไม่ต้องมาเจอกับอะไรมากมายขนาดนี้...

แต่สุดท้ายแล้วเมื่อหันกลับมามองที่ร้านของเรา พอได้เห็นความสำเร็จ ได้เห็นคนมาที่ร้านได้รับประทานของอร่อยๆ เห็นพนักงานมีความสุขกับงานที่ทำแล้ว แม้มันจะเป็นภาระที่หนัก เป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็แฝงไปด้วยความภาคภูมิใจและสร้างรอยยิ้มให้กับเราได้เสมอ และมีความสุขกับสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้

ดังนั้น มันทำให้ปลารู้ว่า วันนั้นที่ตัดสินใจเปิดร้าน มันเป็นการเลือกเดินได้ถูกทางแล้ว เพราะทำให้หาเจอว่า นี่แหละคือตัวตนของปลาจริงๆ” 

คำแนะนำเด็กรุ่นใหม่ ที่อยากเป็นเจ้าของกิจการ

ตอนนี้มันเป็นค่านิยมของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่อยากเป็นลูกจ้าง อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ปลาฝากให้คิดว่า การมีกิจการของตัวเองมันไม่ได้ทำกันง่ายๆ บางคนก็เป็นเจ้าของได้ดีมาก แต่บางคนอาจจะเหมาะกับงานบริหาร ทำงานบริษัทมากกว่า ลองเรียนรู้ประสบการณ์ทำงานแบบองค์กรไปก่อนไม่เสียหลาย เพราะการมีกิจการของตัวเอง มันต้องรับภาระทุกอย่างเองหมดเลยนะ อุปสรรค ปัญหาต่างๆ เรารับคนเดียวเลย
แต่ถ้าคิดตัดสินใจดีแล้ว แนะนำว่าให้หาสิ่งที่ตัวเองรักให้เจอก่อน เพราะไม่มีความสำเร็จอะไรเกิดขึ้นง่ายๆ ดังนั้น ถึงต้องหาสิ่งที่ตัวเองชอบให้เจอก่อน ถ้าได้ทำสิ่งที่รักมันก็มีความสุข และเราจะอดทนกับสิ่งนั้นได้มากกว่า ต้องตั้งใจแรงกล้าจริงและมุ่งมั่น ไม่ท้อ สมมติว่าถ้าให้ปลาไปทำธุรกิจอื่นๆ ที่ปลาไม่ได้ชอบ ปลาอาจจะรู้สึกว่ามีปัญหานิดหน่อยปลาก็ไม่อยากทำและคงล้มเลิกไปแล้วก็เป็นได้

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับพื้นฐานของความเป็นจริง คุณอาจจะชอบ หรือรักในสิ่งที่ทำจริง แต่ถ้าผลมันออกมาตรงกันข้าม อย่างถ้าลองเปิดร้านไปแล้ว 6-8 เดือนยังไม่มีแนวโน้มที่ดี ปรับแล้ว ทำทุกอย่างแล้ว มันไม่ดีขึ้น ก็ต้องตัดสินใจว่าจะแบกต่อไปไหม ฝืนต่อไปมันจะถึงจุดที่ทำให้ไม่มีความสุขในท้ายที่สุด

อย่าลืมว่าชีวิตเราตื่นลืมตามาทำงานทุกวัน ถ้าไปเลือกทำงานที่ไม่มีความสุข ชีวิตเราก็ไม่มีความสุขไปได้หรอก

มอง Social Media ให้รอบด้าน

“ทุกวันนี้การทำธุรกิจ และการสร้างแบรนด์ สื่ออย่าง Social Media ถือเป็นสื่อที่สำคัญมาก ถ้าเป็นแต่ก่อนเปิดร้านใหม่ ต้องอาศัยปากต่อปาก หรือรอสื่อกระแสหลักอย่าง หนังสือพิมพ์ นิตยสาร โทรทัศน์มาถ่าย แต่ทุกวันนี้ลูกค้าเข้าร้านถ่ายรูปลงเว็บ ลงบล็อก ประชาสัมพันธ์ได้เร็วกว่ากันเยอะ

แต่ผลเสียมันก็มีนะ อย่างถ้ามีคนปล่อยข่าวลือ หรือกุข่าว ทำให้ภาพลักษณ์เสียหาย ทั้งที่ไม่รู้ข้อเท็จจริง แต่ก็แชร์กันไปได้ทั่วโลกออนไลน์แล้ว สื่อใหม่แบบนี้มันก็มีทั้งคุณและโทษในขณะเดียวกัน

ตัวปลาเองไม่ได้เป็นคนที่ติด Social Media เท่าไร แต่ก็ต้องอาศัยโทรศัพท์มือถือทำงานตลอด เพราะความสะดวกสบาย ที่เราไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ก็สามารถทำงานได้ แต่ก็กลายเป็นว่าอยู่ที่ไหนก็เหมือนทำงานตลอด แล้วก็มองแต่โทรศัพท์ ซึ่งมันเสียบุคลิกมาก
คนเราทุกวันนี้ยุ่งแต่กับเทคโนโลยีจนแทบจะไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกันเอง ขนาดนั่งกินข้าวกันในโต๊ะทุกคนยังจ้องแต่มือถือเลย เราควรจะหยุดบ้าง อย่างน้องกิ๊ฟ (ลูกสาวคุณตัน โออิชิ-หุ้นส่วนร้านแซ่บอีลี่) เคยพูดสะกิดใจอยู่คำว่า “ในขณะที่เรากำลัง Online อยู่ เท่ากับว่าเรากำลัง Off life อยู่... แต่เมื่อเรา Offline เมื่อไหร่เราจะ On life ทันที” ซึ่งมันคือเรื่องจริงเลย เราต้องรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เป็น ใช้แต่พอดี”

บันทึกความทรงจำ 15 ปี ในฐานะเจ้าของกิจการ

ช่วงสุขที่สุด :: ตอนที่เปิดร้านแรก รู้สึกเหมือนความฝันเป็นจริง จากคนที่ชอบไอศกรีม แล้ววันหนึ่งไอศกรีมที่เราทำ มีคนชอบ มีคนมากินเต็มร้านเลย ภูมิใจมาก ตอนนั้นทำเองทุกอย่าง ตั้งแต่วัตถุดิบไปจนถึงตักขาย ได้คุย ได้เห็นใบหน้ายิ้มแย้มของลูกค้าที่มากิน ทุกวันนี้ไม่ได้สัมผัสความรู้สึกนั้นเท่าไร

ช่วงเศร้าที่สุด :: มีตอนที่ปลาไม่สบายเป็นปีๆ เลย ถือเป็นช่วงขาลงของร้าน ตอนนั้นไม่สบายหนัก แบบวูบไป พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำงานหนักเกินไป ก็เลยมีแวบหนึ่งที่คิดว่า ไม่เอาแล้ว ไม่อยากทำร้านแล้ว ทำไปทำไมเยอะแยะ เพราะถ้าสุขภาพไม่ดีแล้วเราเป็นอะไรไป เราก็เอาอะไรไปไม่ได้ คิดถึงขั้นจะเลิกเลย แต่ด้วยความรับผิดชอบ ไหนจะลูกน้อง ไหนจะลูกค้า พอตั้งสติได้ คิดถึงสิ่งที่ดีๆ ทั้งความภูมิใจ ความสุขที่มี ความคิดเหล่านั้นก็หายไป :: Text by FLASH
กำลังโหลดความคิดเห็น