GPSC เคาะราคา IPO ที่หุ้นละ 27 บาท เปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 8-12 พ.ค.นี้ จำนวน 374.58 ล้านหุ้น ลั่นจ่ายปันผลระหว่างกาลสำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรก2558 เพื่อเพิ่มความน่าสนใจต่อนักลงทุน ขณะเดียวกัน ก็มีแผนซื้อกิจการโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 2 แห่ง มีความชัดเจนในครึ่งปีหลังนี้
นายวราห์ สุจริตกุล กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า ในฐานะตัวแทนของผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) เปิดเผยว่า GPSC ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ราคาหุ้นละ 27 บาท มีค่า P/E อยู่ที่ 20 เท่า ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ไม่แพง เนื่องจากบริษัทฯ มีสัญญาซื้อขายไฟ และสัญญาที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้า ทำให้บริษัทมีแนวโน้มการเติบโตที่ชัดเจน สร้างรายได้ และกำไรเติบโตอย่างมั่นคง
โดยหุ้น GPSC จะเปิดให้จองซื้อระหว่างวันที่ 8-12 พ.ค.นี้ จำนวน 374.58 ล้านหุ้น มูลค่าตราไว้หุ้นละ 10 บาท คาดว่าจะเข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 18 พ.ค.2558
หุ้น GPSC มีมาร์เกตแคป 4 หมื่นล้านบาท จากราคา IPO ที่ 27 บาทต่อหุ้น ซึ่งถือว่าเป็นหุ้น IPO ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งสัดส่วนการเสนอขายหุ้น IPO ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะอยู่ระหว่างการรอความสนใจจองซื้อหุ้นจากนักลงทุน โดยคาดว่าจะทราบในวันที่ 8 พ.ค.นี้ เบื้องต้น จะเสนอขายแก่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนรายย่อยเท่านั้น
นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ จะมีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรก 2558 เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้นักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้น IPO ของบริษัทฯ ซึ่งบริษัทฯ มีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 30% ของกำไรสุทธิ และมีการจ่ายปีละ 2 ครั้ง
ทั้งนี้ มั่นใจว่าหุ้น GPSC จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนในการเข้ามาจองซื้อหุ้น IPO เนื่องจากเป็นบริษัทฯ ที่มีแนวโน้มเติบโตที่ดีจากโครงการในมือ และมีแผนที่จะขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยสิ้นปีนี้จะมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็นกว่า 2,000 เมกะวัตต์ จากสิ้นปี 2557 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น 1,315 เมกะวัตต์ โดยบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อกิจการโรงไฟฟ้า 2 แห่ง ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีกำลังการผลิตหลายร้อยเมกะวัตต์ คาดว่าจะมีความชัดเจนในครึ่งปีหลังนี้ หลังจากตรวจสอบสถานะกิจการ โดยจะต้องมีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) 12-15%
นายนพดล กล่าวว่า บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะก้าวเป็นหนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจไฟฟ้าของภูมิภาคเอเชีย จากการขยายการลงทุน โดยมีเป้าหมายระยะสั้นที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้น เพิ่มจากปัจจุบันอีก 600-1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2562 โดย เน้นซื้อกิจการโรงไฟฟ้า และการลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชัน โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
โดยปีนี้บริษัทวางงบลงทุนไว้ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจไฟฟ้าโคเจนเนอเรชันที่จังหวัดระยอง 3-4 พันล้านบาท และลงทุนโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 พันล้านบาท โรงไฟฟ้าขยะกว่า 1 พันล้านบาท โรงไฟฟ้าไบโอแมสอีก 1 พันล้านบาท และที่เหลือเตรียมไว้สำหรับซื้อกิจการโรงไฟฟ้าอื่นๆ ซึ่งแหล่งเงินทุนจะมาจากเงิน IPO และเงินกู้สถาบันการเงิน ซึ่งบริษัทมีความสามารถในการกู้ยืมได้อีกมาก เนื่องจากบริษัทมีหนี้สินต่อทุน (D/E)ในอัตราที่ต่ำเพียง 0.6 เท่า
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1/2558 บริษัทฯ มีรายได้รวม 6,473 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.04% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 4,978 ล้านบาท และบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 531 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 444.6% จากช่วงเดียวกันที่มีกำไรสุทธิ 89 ล้านบาท เนื่องจากโรงไฟฟ้าศรีราชา มีการดำเนินการเต็มกำลังผลิต ทำให้สามารถรับรู้รายได้ได้เต็มปีจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่โรงไฟฟ้าศรีราชามีการหยุดซ่อมบำรุง