แผนยุทธศาสตร์ อพท.เลิกแท้ง! ครม.ผ่านรวด 4 พื้นที่พิเศษ เน้นพัฒนาพื้นที่และเพิ่มขีดความสามารถชุมชน ลั่นปีงบประมาณ 2558 เดินหน้าเสนอขอประกาศพื้นที่พิเศษเพิ่มอีก 2 แห่งที่หัวหินและเชียงแสน มั่นใจหากทุกพื้นที่พิเศษดำเนินงานตามแผนชุมชนจะมีรายได้เพิ่มที่เกิดจากการท่องเที่ยวเติบโต 100%
จากความพยายามที่จะนำแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติความเห็นชอบมาหลายสมัย และมีอันต้องล้มเหลวตลอดมาเพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ในวันนี้ความพยายามขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นผลสำเร็จแล้ว เมื่อที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวม 4 พื้นที่ วงเงินงบประมาณรวม 11,417.47 ล้านบาท
พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า แผนยุทธศาสตร์ของพื้นที่พิเศษที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ประกอบด้วย พื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร ระยะ 10 ปี (2556-2565) วงเงิน 1,847.4 ล้านบาท พื้นที่พิเศษ เลย ระยะ 10 ปี (2556-2565) วงเงิน 3,077.40 ล้านบาท พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ระยะ 5 ปี (2556-2560) วงเงิน 2,404.27 ล้านบาท และพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง ระยะ 10 ปี (2557-2566) วงเงินงบประมาณ 4,088.40 ล้านบาท
ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณภายใต้แผนยุทธศาสตร์ที่ อพท.ทำไว้นั้นไม่จำเป็นต้องผ่านมาที่ อพท.ทั้งหมด แต่สำนักงบประมาณจะจัดสรรตรงไปยังหน่วยงานต้นสังกัดของแต่ละโครงการ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงคมนาคม เป็นต้น
เป้าหมายสูงสุดของการทำงานตามแผนคือ ชุมชนในพื้นที่พิเศษต้องสามารถบริหารจัดการชุมชนของตัวเองให้มีขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว การเพิ่มกิจกรรมการท่องเที่ยว หรือแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่ชุมชนมีส่วนร่วม และชุมชนจะต้องมีรายได้เพิ่มจากการเดินทางมาของนักท่องเที่ยว ซึ่ง อพท.จะวัดผลได้จาก “ดัชนีอยู่ดีมีสุข” และรายได้ชุมชนที่เพิ่มขึ้น
ทางด้าน ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า พื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ เมื่อดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ตามที่ ครม.เห็นชอบจะเป็นพื้นที่ต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ เข้ามาศึกษาดูงานเพื่อนำไปปรับใช้พัฒนาชุมชนของตัวเอง ซึ่งหากชุมชนในพื้นที่พิเศษมีการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ที่ อพท.วางไว้จะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตเฉลี่ยปีละ 5-10% และมีรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยวเติบโตแบบก้าวกระโดด หรืออย่างน้อยเฉลี่ยปีละ 30% โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการเข้าไปทำกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของนักท่องเที่ยว และยังช่วยเพิ่มวันพักเฉลี่ยให้นักท่องเที่ยวอยู่นานขึ้น ใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นจากการจ่ายค่าที่พักและการใช้บริการในกิจกรรมการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ของ อพท.ไม่ได้มุ่งหวังแค่การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้เข้าสู่ชุมชนเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่จะต้องรักษาไว้ให้ยั่งยืน แม้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นก็ตาม นั่นคือ อพท.จะต้องใส่องค์ความรู้ให้แก่ชุมชนในด้านการจัดการระบบหลังบ้าน ทั้งเรื่องการจัดการขยะ น้ำเสีย การทำการตลาด ตลอดจนให้ชุมชนคิดต่อยอดอย่างสร้างสรรค์ในเรื่องของการฟื้นฟูและสืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความสมดุล 3 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
สำหรับปีงบประมาณ 2558 อพท.เตรียมประกาศพื้นที่พิเศษเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 1-2 แห่ง โดยพื้นที่แรกคือ พื้นที่พิเศษเมืองหัวหิน-ชะอำ และพื้นที่เชื่อมโยง ซึ่ง อพท.ได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยกับการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษร้อยละ 96.31 ขั้นตอนต่อไปจึงจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในปีงบประมาณ 2558 ส่วนพื้นที่ที่สองคือ พื้นที่เมืองโบราณเชียงแสน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา หน่วยงาน และองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่
ปัจจุบัน อพท.มีพื้นที่พิเศษในความดูแลรับผิดชอบรวม 6 พื้นที่ โดยอีก 2 พื้นที่ที่ไม่ได้กล่าวถึงคือ พื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อปี 2554 และอีกหนึ่งพื้นที่คือ พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง ดำเนินงานภายใต้กรอบบูรณาการการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง