โดน...ถนอม ขุนเพ็ชร์
“กลัวขายของไม่ได้ มากกว่ากลัวตายเสียอีก”
คำบอกเล่าของ เกษมณี ชัยรัตนมโนกร ผู้รับผิดชอบโครงการรูปแบบการจัดการตลาดเทศวิวัฒน์ 1 เทศบาลเมืองปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งสะท้อนความเป็นพิเศษของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเด่นชัด
ชุมชนนี้ตั้งอยู่ระหว่างถนนนาเกลือ ถนนฤาดี ถนนยะรัง และถนนปานาเระ กลางเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ด้านหลังชุมชนมีคลองอาเนาะซางูไหลผ่าน ทุกซอกมุมล้วนมีประวัติศาสตร์ของความเป็นเมืองปัตตานี อันมีความเป็นมายาวนาน บ้านเรือน และร้านค้า 150 หลังคาเรือนอยู่ใจกลางเมือง แต่ที่ผ่านมา กลับเป็นเรื่องที่แปลกมากที่ไม่ได้มีฐานะเป็นชุมชนสังกัดเทศบาลเหมือนชุมชนอื่นๆ
“การรวมตัวของคนรอบๆ ตลาดเพื่อดูแลซึ่งกันและกัน ร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคี หน่วยงานรัฐต่างๆ ก็เริ่มให้ความสำคัญ ขณะที่เทศบาลกำลังจะตั้งให้เป็นชุมชนแล้ว”
เกษมณี กล่าวถึงโครงการรูปแบบการจัดการตลาดเทศวิวัฒน์ 1 เพื่อสุขภาวะชุมชน ภายใต้การสนับสนุนของโครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส.
โครงการนี้เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2554-2555 เป็นระยะแรก พบประเด็นสำคัญว่าที่ทุกคนต้องการคือ ความสามัคคี เพราะที่ผ่านมา คนในตลาดแม้จะรู้จักกัน แต่ทำอะไรร่วมกันไม่ได้ เป็นลักษณะของชุมชนเมืองที่ต่างคนต่างอยู่
ตอนเริ่มขยับขับเคลื่อนโครงการนี้มีสิ่งที่ให้เลือกว่า จะทำเรื่องขยะ หรือเรื่องความปลอดภัย เพราะช่วงนั้นชุมชนเจอเหตุระเบิดหลายครั้ง สุดท้ายเลยเลือกเรื่องความปลอดภัยเป็นตัวเอก เน้นปัญหาอัคคีภัยกับปัญหาระเบิด แต่สอดแทรกเรื่องขยะ เพราะว่าขยะเกี่ยวข้องกับความไม่ปลอดภัย เมื่อคนทิ้งขยะเพ่นพ่านแบบตามใจตนเอง ถ้ามีคนเอาระเบิดมาวางก็มองไม่ออกว่าขยะหรือระเบิด
ระยะแรกที่ทำเริ่มทำให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาดูแลชุมชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลเมืองปัตตานี หน่วยศูนย์แพทย์ชุมชน สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงทหาร และตำรวจ ต่อมา ในระยะที่ 2 คือระหว่างปี 2556-2557 โครงการยังคงทำเรื่องความปลอดภัย แต่ไม่เน้นกับหน่วยงานราชการ เพราะราชการเข้ามาแล้วทำให้ชุมชนไม่สบายใจ
“อย่างว่าแหละ เราให้ความรู้เกี่ยวกับระเบิด เจ้าหน้าที่อีโอดีที่เข้ามาก็ใส่เครื่องแบบมา จะใส่ชุดอื่นมาก็ผิดระเบียบ พอเขามาให้ความรู้ อีกวันก็มีวัตถุต้องสงสัยมาวางเลย ก็รู้สึกว่าการทำงานกับหน่วยงานที่แสดงตัวชัดเจนอย่างนี้จะไม่ปลอดภัยเท่าไร กลายเป็นเรื่องท้าทาย เราก็มองว่าเอาความรู้ที่ได้มาจับกลุ่มคุยกันเองดีไหม”
โครงการระยะที่ 2 จึงมาเน้นการทำเครือข่ายโทรศัพท์ แจ้งข่าว บอกความเคลื่อนไหว ความไม่ปลอดภัยต่างๆ ในชุมชน มีทั้งการตั้งกลุ่มไลน์ในสื่อสังคมออนไลน์ ส่วนคนสูงอายุที่ไม่ใช้สมาร์ทโฟนทางโครงการก็ทำสมุดโทรศัพท์ชุมชนแจก เมื่อมีเหตุอะไรตอนกลางคืนเพื่อความปลอดภัยก็ไม่ต้องออกจากบ้าน สามารถใช้โทรศัพท์หากัน
นอกจากนั้น มีความพยายามรณรงค์ให้มีถังดับเพลิงประจำบ้าน และทำการตรวจสภาพให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
“การขับเคลื่อนความปลอดภัยนั้นเราทำกันเงียบๆ ในชุมชน ไม่ให้คนอื่นรู้ แต่ในเรื่องที่เด่นออกไปข้างนอก และคนข้างนอกรู้คือ การจัดการขยะ”
เกษมณี เล่าว่า จากระยะที่ 1 ที่ได้สร้างกลุ่มเยาวชนขึ้นมาทำกิจกรรมเลย เอากลุ่มเยาวชนกลุ่มนี้มาทำงานต่อ ออกมารับซื้อขยะตามบ้านเรือน เดือนละ 2 ครั้ง พวกเด็กจะเดินไปถามว่าบ้านไหนขายขยะ กลุ่มเด็กจัดการเอาไปขายต่อ ส่วนมากชาวบ้านจะเก็บขยะเอาไว้ให้เด็กฟรีๆ มีการเก็บเข้าธนาคารให้เด็กที่ทำงานมาเบิกเป็นกองทุนการศึกษา
ในระยะที่ 2 ยังมีการเพิ่มการหาเครือข่ายเก็บขยะ มีการมองหาว่าใครบ้างที่จะมาเก็บขยะอันมากมายในตลาดไปใช้ประโยชน์ได้ พบว่า คนเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ต้องการมาเก็บผัก หัวปลา ไส้ไก่ กากมะพร้าว ขณะที่กะลามะพร้าวสามารถนำไปเผาถ่าน
มีกิจกรรมอีกด้านหนึ่งให้คนในชุมชนร่วมกันเอาเศษผักมาหมักกากน้ำตาลทำน้ำหมัก ส่วนหนึ่งขายเป็นกองทุนเอาไว้ใช้ในกิจการของกลุ่ม อีกส่วนเทลงคลองเพื่อแก้ปัญหาน้ำเสีย
สำหรับโครงการระยะที่ 3 คือ ช่วงปี 2558 นี้ เกษมณี เล่าว่า ตั้งใจจะทำเรื่องขยะ มีการตั้งชื่อกิจกรรมว่า “การสร้างการมีส่วนร่วม” ซึ่งมีหลายส่วนให้ความสนใจ อย่างเช่น สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองปัตตานี ได้ก็ส่งคนระดับผู้อำนวยการลงมาเพื่อดูแลตลาด แล้วมีนโยบายเกี่ยวกับขยะ และจัดระเบียบตลาดด้วย
เกษมณี เล่าด้วยว่า ที่ผ่านๆ มานั้นสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของความกลัวของคนในชุมชนด้วย
“ถ้ามีระเบิดเกิดขึ้นนี่คนไม่เข้าในตลาดเลย สำหรับเราพ่อค้าแม่ค้าไม่ได้กลัวตาย แต่กลัวขายของไม่ได้” เธอหัวเราะ และว่า
คนในตลาดรู้สึกแบบเดียวกัน มองอีกมุมหนึ่งเงื่อนไขร้ายๆ นี้กลับสามารถทำให้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ เป็นไปได้ด้วยดี โดยใช้สถานการณ์ที่เป็นอยู่มาบอกว่า หากไม่ช่วยกัน ถ้าเกิดระเบิดขึ้นสิ่งที่ตามมาก็คือ ทุกคนจะขายของไม่ได้ อย่างนี้เข้าใจง่าย ซึ่งทำให้ทุกคนพร้อมจะมาร่วมมือกัน
จากที่ทางเดินในตลาดสกปกรกมาก มีขยะเยอะ กลับกลายเป็นสะอาดขึ้น ทำกับร้านค้าแล้วก็มารณรงค์กับแม่ค้า รณรงค์กับคนในชุมชนให้ถือตะกร้ามาตลาดมากขึ้นเพื่อลดถุงพลาสติก การที่หน่วยงานต่างๆ เข้ามาดูแลชุมชนมากขึ้น เพราะเห็นว่าชาวชุมชนรวมตัวกันได้ ง่ายสำหรับการติดต่อ ซึ่งถือว่าสะดวกกว่าสมัยก่อน
“พอเราทำกิจกรรมนี้ขึ้นมา แค่บอกต่อคณะทำงานโครงการเท่านั้น จากนั้นก็จะมีการกระจายข่าวออกไป พอถึงเวลาคนก็จะมาทำกิจกรรมกับเราได้เลย มันก็ง่ายขึ้น”
สำหรับชาวบ้านที่มารวมกันต่างรู้สึกอันเดียวกันว่า เมื่อมารวมกันก็ทำอะไรหลายอย่างทำได้ง่ายขึ้น ถึงแม้เป็นชุมชน 2 ศาสนา แต่ไม่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างพุทธกับมุสลิมอยู่เลย ทุกคนมาที่นี่เพื่อขายของ ทำอย่างไรก็ได้ให้ขายของได้
สำหรับอนาคตนั้น ทุกคนอยากให้ตลาดสะอาด ไม่เป็นที่อยู่ของหนู หมา แมว นก ฯลฯ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรคต่างๆ ถ้าพื้นที่ตลาดสะอาด คนจะอยู่ได้อย่างมีความสุข
สิ่งสำคัญที่เกษมณีอยากเห็นคือ ให้คนเกิดความสามัคคี เชื่อว่าจะเกิดอะไรก็แล้วแต่ หากมีความสามัคคีเกิดขึ้นแล้วจะสามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง