xs
xsm
sm
md
lg

GLOW ดิ้นผุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทดแทน SPP ที่หมดสัญญาปี 60

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“โกลว์ พลังงาน” ชี้ปีนี้กำไรลดลง เหตุปิดซ่อมบำรุง 2 โรงไฟฟ้า และค่าก๊าซฯ ลดลงฉุดมาร์จิ้นค่าไอน้ำวูบ จ่อผุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน 200เมกะวัตต์ ทดแทนโรงไฟฟ้า SPP 2 โรงที่จะหมดสัญญาซื้อขายไฟลงในปี 2560 หากรัฐเมินต่อสัญญา โดยจะหวังขายไฟและไอน้ำให้กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเดิท พร้อมแสวงหาโอกาสลงทุนทั้งในลาว และพม่า

นายณัฐพรรษ ตันบุญเอก ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) (GLOW) เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทฯ คาดว่าจะมีกำไรอยู่ระดับ 8.5-9 พันล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อนที่มีกำไรปกติอยู่ 9.6 พันล้านบาท เนื่องจากปีนี้มีการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ 2 โรงไฟฟ้า คือ โรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน กำลังผลิต 660 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 40 วันเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา และในไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 นี้จะมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าโกลว์ ไอพีพีขนาด 713 เมกะวัตต์เป็นเวลา 45 วัน ทำให้กระทบโดยตรงต่อกำไรของบริษัทฯ

นอกจากนี้ การประกาศปรับลดค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ลงแม้ว่าราคาค่าก๊าซฯ จะยังไม่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงในช่วงต้นปี ทำให้กระทบต่อมาร์จิ้นบ้าง แต่ตัวที่กระทบมากที่สุดคือมาร์จิ้นค่าไอน้ำที่ขายให้ภาคอุตสาหกรรมที่มีสัญญาซื้อขายผูกกับสูตรค่าก๊าซฯ ถ้าค่าก๊าซฯ ลดลง ราคาค่าไอน้ำก็จะลดลงตามไปด้วย

นายณัฐพรรษกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในการต่ออายุสัญญาโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 2 โรงของโกลว์ที่มาบตาพุด ซึ่งจะหมดอายุสัญญาขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในปี 2560-2561 ดังนั้น หากไม่ได้รับการต่ออายุโรงไฟฟ้าดังกล่าว บริษัทฯ ก็มีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 200 เมกะวัตต์เทียบเท่าขึ้นมาทดแทนโรงไฟฟ้า SPP ดังกล่าวเพื่อขายไฟฟ้าและไอน้ำให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นลูกค้าเดิม โดยจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้ประมาณครึ่งหลังปี 2558

ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้า SPP ใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงมีมาร์จิ้นไม่สูงมาก ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินจะมีมาร์จิ้นที่ดีกว่า ทำให้บริษัทมีกำไรที่สูงขึ้นแม้ว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเท่าเดิมก็ตาม อย่างไรก็ตาม การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้า SPP ที่หมดอายุสัญญาซื้อขายไฟนั้นยังต้องรอความชัดเจนจากภาครัฐ และผลศึกษาการลงทุนโครงการใหม่ โดยจะต้องมีการทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน (EHIA)ก่อน และจะใช้เวลาก่อสร้าง 3-3.6 ปีจึงจะแล้วเสร็จ ระหว่างนั้นก็อาจจะต้องเดินโรงไฟฟ้า SPP เดิมไปก่อน

ดังนั้น แผนการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มของโกลว์ในช่วง 1-2 ปีนี้ยังไม่มี แต่บริษัทฯ ก็แสวงหาโอกาสการลงทุนทั้งในไทย ลาว และพม่า โดยโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้า IPP และ SPP ใหม่ในไทยยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อใด ดังนั้น การลงทุนโรงไฟฟ้าของโกลว์จะมองไปยังโรงไฟฟ้าพลังลม หลังจากมีความชัดเจนอัตราค่าไฟฟ้าที่รับซื้อ ทำให้บริษัทฯ กลับมาทบทวนโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมที่เคยศึกษามาก่อนหน้านี้ใหม่อีกครั้ง รวมทั้งสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะทดแทนโรงไฟฟ้า SPP ที่จะหมดสัญญาลง

ส่วนที่ลาวก็อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรร่วมทุนที่จะเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดกลางเพิ่มเติมหลายโครงการ กำลังการผลิต 100-200 เมกะวัตต์/โรง ซึ่งยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ ส่วนการลงทุนที่พม่านั้น บริษัทฯ จะเน้นการลงทุนโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยก่อนหน้านี้บริษัทได้ร่วมกับพันธมิตรประมูลสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ ขนาด 200 เมกะวัตต์แถวมัณฑะเลย์ แต่ไม่ชนะประมูล คงต้องรอดูว่ารัฐบาลพม่าจะมีเปิดประมูลสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ เพิ่มเติมอีกหรือไม่

“การลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ บริษัทฯ จะหาพันธมิตรร่วมลงทุนด้วยเพื่อลดความเสี่ยง แต่บริษัทจะเป็นผู้ลงทุนใหญ่เพื่อบริหารงาน ขณะเดียวกันผลตอบแทนการลงทุนต้องเหมาะสม ถ้าต่ำเกินไปก็จะไม่ลงทุน โดยปีนี้โรงไฟฟ้าห้วยเฮาะ ที่ลาวไม่น่ามีปัญหา เนื่องจากมีน้ำในปริมาณที่สูงมากหลังจากปีก่อนฝนตกสูงสุดเป็นประวัติการณ์”
กำลังโหลดความคิดเห็น