“จักรมณฑ์” นำทีมผู้บริหารลงพื้นที่มาบตาพุดสำรวจความพร้อมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด เน้นมาตรการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อม-ความปลอดภัย ชูแผนบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมผลักดันการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันนี้ (18 เม.ย. 2558) ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และรับฟังแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก และมอบนโยบายในด้านต่างๆ แก่ กนอ. ไม่ว่าจะเป็นการวางระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ระบบคมนาคม ระบบลอจิสติกส์ เพื่อรองรับการลงทุนที่จะขยายตัวในอนาคต รวมถึงแนวทางในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะในด้านการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม มูลฝอย และสิ่งปฏิกูล ในโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในกลุ่มพื้นที่นิคมฯ มาบตาพุด รวมถึงกำชับในการเฝ้าระวัง และควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน
ปัจจุบันการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีแผนในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรืออุตสาหกรรมพื้นที่มาบตาพุดที่เป็นรูปธรรม ทั้งการกำกับดูแล และเฝ้าติดตามผลการดำเนินงานภายใต้ระเบียบของ กนอ. นอกจากนี้ ในเป้าหมายแผนการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดยังได้มีโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งมีแผนพัฒนาพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมฯ มาบตาพุด และเป็นศูนย์กลางขนถ่ายสินค้าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง นับได้ว่าจะเป็นช่องทางที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น
“รัฐบาลยังได้มีนโยบายในการพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคม โดยเฉพาะระบบราง ให้สามารถพัฒนาระบบลอจิสติกส์ที่สามารถเชื่อมโยงการขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการลดต้นทุนภาคขนส่งให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางระบบลอจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน” นายจักรมณฑ์กล่าว
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กนอ.ได้ดำเนินการพัฒนาศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ตั้งอยู่ในนิคมฯ มาบตาพุด และศูนย์ปฏิบัติการ กนอ. (IEAT Operation Center) หรือ EMCC@IEA-T มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการบูรณาการข้อมูลร่วมกัน ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินจะทำหน้าที่เป็นศูนย์ Warroom อย่างไรก็ตาม กนอ.จะเป็นหน่วยงานสำคัญในการเตรียมความพร้อมสำหรับการลงทุนให้แก่นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในนิคมฯ มากขึ้นในอนาคต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อขอแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.กนอ. เพื่อให้ กนอ.เป็นหน่วยงานที่มีความคล่องตัวมากขึ้นในการกำกับดูแล การส่งเสริมลงทุนของ กนอ.ที่ขยายมากขึ้น ไปสู่ภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งขยายขอบเขตการให้บริการแก่นักลงทุน และลูกค้าอย่างครบวงจรมากยิ่งขึ้น