ระยอง - รมว.อุตสาหกรรม เปิดสำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการขออนุญาตนำสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกโรงงานของผู้ประกอบการในพื้นที่
วันนี้ (18 เม.ย.) นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดสำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง โดยมี นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ ร่วมในพิธี และมี นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจงหวัดระยอง ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกว่า 200 ราย ให้การต้อนรับ
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง จะเปิดรับการขออนุญาตนำส่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานหรือ (สก.2) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ ลดระยะเวลาการขออนุญาต สามารถให้คำปรึกษากฎหมายเกี่ยวกับกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ และเป็นการเตรียมการทดลองให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในระดับภูมิภาคเป็นผู้อนุญาต เพื่อกระจายอำนาจจากส่วนกลาง
โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม เห็นว่า ในปีที่ผ่านมา จังหวัดระยองมีโรงงาน จำนวน 2,045 โรงงาน มีผู้ขออนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกไปกำจัดรวม 954 ราย ปริมาณ 4.79 ล้านตัน เป็นกากอันตราย 0.81 ล้านตัน กากไม่เป็นอันตราย 3.98 ล้านตัน และมีการแจ้งขนส่งกากอันตราย 0.33 ล้านตัน กากไม่เป็นอันตราย 2.56 ล้านตัน สรุป จ.ระยอง มีผู้ยื่นคำขออนุญาตในปี 2557 จำนวน 4,819 คำขอ คิดเป็นร้อยละ 14 ของคำขอ (สก.2)
ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้จัดทำหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาต สก.2 พร้อมคู่มือในการปฏิบัติงาน รวมทั้งได้ส่งวิศวกร และนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นผู้พิจารณา จำนวน 3 คน หมุนเวียนกันเป็นพี่เลี้ยงตลอดโครงการ เพื่อสนับสนุนให้จังหวัดระยอง ได้ใช้องค์ความรู้เฉพาะทาง และการใช้งานระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการอนุญาตต่อไป
ด้านนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการเร่งรัดแก้ไขปัญหาการจัดการขยะเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะขยะอุตสาหกรรมมีการวางมาตรการการบริหารจัดการเป็นพิเศษ กำหนดให้ทิ้งในบ่อขยะอุตสาหกรรมที่ถูกต้องตามมาตรฐาน
สำหรับขยะของเสียอันตราย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะติดเชื้อ จะพัฒนาระบบกำกับติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังไม่ให้มีการลักลอบทิ้ง รวมทั้งการจัดการสารเคมีอันตราย โดยลดความเสี่ยง และอันตรายที่เกิดจากการรั่วไหล และให้ความสำคัญในการจัดการอย่างครบวงจร