xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นลาม เกาหลี ยุโรป อเมริกา หลังญี่ปุ่นยกข้อมูล ICAO ห้ามไทยเพิ่มเที่ยวบิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการ - มาตรฐานกรมการบินพลเรือนต่ำเกณฑ์ ICAO ลากสายการบินสัญชาติไทยป่วน ญี่ปุ่นห้ามเพิ่มเที่ยวบินและเช่าเหมาลำเปิดใหม่ช่วงสงกรานต์ นักท่องเที่ยวไทยฝันค้าง หวั่นเกาหลี ยุโรป อเมริกาทำตามญี่ปุ่นเพิ่ม

จากกรณีที่ประเทศญี่ปุ่น โดย Japan Civil Aviation Bureau (JCAB) ได้มีหนังสือถึงกรมการบินพลเรือน (บพ.) เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2558 ว่า JCAB จะไม่อนุมัติให้มีการขยายหรือเปลี่ยนบริการขนส่งทางอากาศ ไม่ว่าจะในรูปการเพิ่มท่าอากาศยานหรือเปลี่ยนแบบอากาศยานที่จะให้บริการไปยังประเทศญี่ปุ่น โดยจะยกเลิกมาตรการต่อเมื่อ บพ.จะผ่านการตรวจสอบตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล (Universal Safety Oversight Audit Program; USOAP) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

เรื่องดังกล่าวทำให้สายการบินสัญชาติไทยที่ได้ยื่นขอทำการบินแบบเช่าเหมาลำ (Charter Flight) ไปญี่ปุ่นเพื่อรองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ ไม่ได้รับอนุญาตจำนวน 3 สายการบิน คือ

1. สายการบินไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ ไม่ได้รับอนุญาตให้เพิ่มเส้นทางบินไปฮอกไกโด
2. สายการบินนกสกู๊ต ไม่ได้รับอนุญาตให้บินเช่าเหมาลำไปยังเมืองเกียวโต และโอซากา
3. สายการบินเอเชีย แอตแลนติก

ซึ่งถือเป็นความเสียหายต่อธุรกิจการบินเนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอม ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ชี้แจงว่า ทาง ICAO ได้ส่งทีมมาประเมิน บพ.เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และพบว่า บพ.มีข้อบกพร่องหลัก 2 ข้อ เรื่องมาตรฐานด้านการบิน และมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งตัวอย่างคือ เรื่องการขนส่งสินค้าอันตราย (Dangerous Goods) เรื่องการออกใบอนุญาต เรื่องกฎหมายที่ไม่ทันสมัย เรื่องบุคลากรที่ผ่านการอบรมจาก ICAO มีจำนวนต่ำกว่าเกณฑ์ ที่สำคัญคือ บพ.ไม่ได้แยกบทบาทในด้านนโยบาย (Policy) ด้านกำกับดูแล (Regulator) และด้านปฏิบัติ (Operator) ออกจากกัน โดย บพ.ทำหน้าที่รวมเบ็ดเสร็จ ซึ่งถือว่าไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

ซึ่งเมื่อวันที่ 2 มีนาคม บพ.ได้ทำหนังสือถึง ICAO เสนอแผนปรับปรุงแก้ไขต่อกรณีต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns : SSC) ของ ICAO โดยมีรายละเอียดการแก้ไขบทบาทหน้าที่ของ บพ. โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี จากที่ บพ.ทำหน้าท่ี รวมศูนย์ทุกเรื่อง จะแยกด้านนโยบายมาอยู่ที่กระทรวงคมนาคม และ บพ.ทำหน้าที่กำกับดูแล ส่วน Operator นั้นให้หน่วยงานอื่นดูแลแทน เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นต้น ด้านกฎหมายได้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขแล้ว และจะเร่งรัดแก้ พ.ร.บ.เดินอากาศไทย พ.ศ. 2497 ด้านบุคลากร ครม.ได้อนุมัติงบ เพื่อจ้างบุคลากรเพิ่ม 13 คน วงเงิน 23 ล้านบาท ตั้งแต่มีนาคมนี้เป็นต้นไป และอนุมัติงบอีก 80 ล้านบาทสำหรับทำระบบ Data Base เพื่อยกระดับการให้บริการจาก manual เราจึงเชื่อมั่นแผนการปรับปรุงที่เสนอไป

และ 1 สัปดาห์ต่อมา ICAO ได้ตอบกลับ โดยระบุว่ายังมีข้อห่วงใยและให้ บพ.ส่งรายละเอียดเพิ่มเติม ในขณะเดียวกัน ICAO ได้นำข้อมูลการตรวจสอบ บพ.ลงเว็บไซต์ ICAO (Secure website) ซึ่งยังไม่ใช่การแจ้งผลเป็นทางการ แต่สมาชิก ICAO จะรับทราบได้ เรื่องนี้ บพ.มีระยะเวลาในการแก้ไขปรับปรุงแผนใน 90 วัน หรือจนถึงเดือนพฤษภาคม หากผ่านเกณฑ์ ICAO จะถอดถอนเรื่อง SCC แต่ปรากฏว่าญี่ปุ่นได้มีมาตรการห้ามดังกล่าวออกมา จึงผิดหวังกับปฏิกิริยาของญี่ปุ่น ดังนั้นเมื่อวันที่ 26 มีนาคมทาง บพ.และการบินไทยได้เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อทำความเข้าใจกับญี่ปุ่นว่าสายการบินของไทยได้มาตรฐานและขอให้เชื่อมั่นในการแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยต่อความปลอดภัย (SSC) ว่าจะเป็นไปตามมาตรฐาน ICAO และจะเดินสายไปยังประเทศเกาหลีใต้ จีน และเยอรมนี ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่เป็นเส้นทางบินหลัก เพื่อทำความเข้าใจไว้ก่อน

พล.อ.อ.ประจินกล่าวฝากผู้บริหาร บพ. การบินไทย อย่านิ่งนอนใจ ต้องทำงานกันเป็นทีม และต้องทำงานอย่างหนัก และทิ้งท้ายว่า เชื่อใจ ICAO ที่เป็นองค์การการบินสากล มั่นใจว่ากรณีที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง เพราะเป็นเรื่องทางวิชาชีพ

ด้านนายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่กระทบต่อหลายสายการบินอย่างมาก และไม่ใช่แค่ญี่ปุ่น แต่จะเริ่มลุกลามไปที่เกาหลี ยุโรป อเมริกา ซึ่งนกแอร์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของนกสกู๊ต ซึ่งมีเป้าหมายแผนการดำเนินงานจะเปิดบินสู่ประเทศญี่ปุ่นแบบเช่าเหมาลำ และอยู่ระหว่างขออนุญาตเปิดบินแบบตารางบินประจำ แต่มั่นใจว่านกสกู๊ตมีทางออก



นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ (แฟ้มภาพ)
กำลังโหลดความคิดเห็น