“กรมการบินพลเรือน” ชี้แจงกรณีญี่ปุ่นห้ามเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำจากไทยเข้าประเทศ เนื่องจากไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย ยันทำแผนดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องส่งให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) แล้ว พร้อมเตรียมเดินทางไปชี้แจงกับญี่ปุ่น 26 มี.ค.
วันนี้ (26 มี.ค.) กรมการบินพลเรือน ได้ทำหนังสือชี้แจงกรณีประเทศญี่ปุ่นห้ามเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำจากไทยเข้าประเทศ ว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวกรณีประเทศญี่ปุ่นห้ามเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำจากไทยเข้าประเทศ เนื่องจากได้รับทราบผลการตรวจสอบตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล (Universal Safety Oversight Audit Program; USOAP) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) นั้น
กรมการบินพลเรือน (บพ.) ได้รับการตรวจตามโครงการ เมื่อวันที่ 19 - 30 มกราคม 2558 ซึ่งผลการตรวจสอบตามโครงการดังกล่าว พบว่า ประเทศไทยมีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns: SSC) เกี่ยวกับกระบวนการรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ ซึ่งกระทรวงคมนาคม โดยกรมการบินพลเรือนได้จัดทำแผนการดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่อง (Corrective Action Plan: CAP) และส่งให้ ICAO เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2558 ซึ่ง ICAO ได้นำ ข้อตรวจพบของ SSC ดังกล่าวลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ที่จำกัดการเข้าถึงเฉพาะรัฐภาคีของ ICAO (Secure website) แล้ว ทั้งนี้ ICAO มิได้มีวัตถุประสงค์หรืออำนาจในการดำเนินการใดๆ ที่เป็นผลกระทบต่อประเทศไทย ขึ้นอยู่กับรัฐต่างๆ ที่จะพิจารณาดำเนินการเอง
โดยเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2558 กรมการบินพลเรือนได้รับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของ Japan Civil Aviation Bureau (JCAB) ว่า ได้รับทราบผลการตรวจสอบของ ICAO โครงการ USOAP จากการที่ ICAO ได้นำ SSC ของประเทศไทยลงใน Secure website จึงแจ้งให้กรมการบินพลเรือน ทราบว่า นโยบายของ JCAB เกี่ยวกับผู้ขนส่งทางอากาศของประเทศที่ ICAO ได้ระบุ SSC ให้ทราบว่า
1. JCAB จะไม่อนุมัติให้มีการขยายหรือเปลี่ยนบริการขนส่งทางอากาศ ไม่ว่าจะในรูป การเพิ่มท่าอากาศยานหรือเปลี่ยนแบบอากาศยานที่จะให้บริการไปยังประเทศญี่ปุ่นตามบทบัญญัติในมาตรา 129-3
2. JCAB จะเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ Ramp service ตามข้อ 16 ของอนุสัญญา ว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (อนุสัญญาชิคาโก ค.ศ. 1944)
ทั้งนี้ นโยบายของ JCAB มิได้กระทบถึงผู้ขนส่งทางอากาศของประเทศไทยที่ทำการบินแบบประจำ ซึ่งยังคงสามารถให้บริการขนส่งทางอากาศได้ตามปกติ โดย JCAB จะยกเลิกมาตรการดังกล่าวเมื่อ ICAO ได้ระบุว่า SSC ได้รับการแก้ไขแล้ว การดำเนินการในกรณีนี้ถือเป็นมาตรการ ที่ JCAB ปฏิบัติกับทุกรัฐ ที่ ICAO ระบุว่ามี SSC
สำหรับสายการบินที่ได้ยื่นขอทำการบินแบบเช่าเหมาลำจากประเทศไทยไปยังญี่ปุ่น แต่ได้รับแจ้งว่าไม่อนุญาต ดังนี้
1. สายการบินไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ ไม่ได้รับอนุญาตให้เพิ่มสนามบินที่จะทำการบินไปในเส้นทางฮอกไกโด
2. สายการบินนก สกู๊ต ไม่ได้รับอนุญาตให้บินเช่าเหมาลำรับขนในช่วงสงกรานต์ ไปยังเมืองเกียวโต และ โอซากา
3. สายการบิน เอเชีย แอตแลนติก ไม่ได้รับอนุญาตให้บินเช่าเหมาลำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เช่นเดียวกัน
สำหรับแนวทางแก้ไข ณ ขณะนี้ กรมการบินพลเรือนจะเดินทางไปชี้แจงกับประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 26 มีนาคม 2558 เพื่อทำความเข้าใจถึงข้อเท็จจริงและแนวทางการดำเนินการของประเทศไทย ส่วนประเทศอื่นๆ กรมการบินพลเรือนจะได้ดำเนินการชี้แจงเกี่ยวกับสถานะด้านมาตรฐานความปลอดภัยของสายการบินในประเทศไทย รวมถึงการแก้ไขข้อบกพร่องจากการตรวจสอบดังกล่าวให้ทราบอย่างเร็วที่สุด