สหภาพฯ ร.ฟ.ท.พบ “ประจิน” ขอความชัดเจนตั้งกรมราง ยันไม่ขวางหากแยกเฉพาะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและกำกับดูแล คงงานซ่อมบำรุงและเดินรถไว้เหมือนเดิม กังวลรัฐยกเลิก พ.ร.บ.รถไฟ 2 ฉบับ เปิดทางเอกชนวิ่งแข่งบนราง เหตุเอื้อประโยชน์เอกชนบางกลุ่มใช้ทรัพย์สินรถไฟ
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.ร.ฟ.ท.) เข้าพบวันนี้ (17 มี.ค.) ว่า ได้มีการหารือถึงปัญหาของ ร.ฟ.ท. ทั้งการบริหารจัดการ การเดินรถ ซึ่งปัญหาหนี้จะร่วมมือกันแก้ไข ส่วนใดที่เป็นการลงทุนโดยใช้งบประมาณใหม่รัฐบาลจะให้การสนับสนุน และการปรับปรุงพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเดินรถไฟขนาดรางมาตรฐาน (Standard Gauge) 1.435 เมตร ความเร็วปานกลาง เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งในประเด็นนี้จะมีการหารือรวมกัน 3 ฝ่าย คือ กระทรวงคมนาคม ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. และสหภาพฯ ร.ฟ.ท. อีกครั้งเพื่อให้งานเดินหน้าไปด้วยกัน
สำหรับแผนฟื้นฟู ร.ฟ.ท.นั้น ทางนายวุฒิชาคติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. จะต้องเร่งจัดทำแผนเพิ่มเติมในเรื่องการปรับปรุงการบริการ การเดินรถ การแข่งขันด้านขนส่งสินค้า และเตรียมพร้อมเรื่องการปลดภาระหนี้สินและการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ และปรับอัตรากำลังใหม่ โดยจะเร่งเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในการประชุมครั้งต่อไป ส่วนกระทรวงคมนาคมจะผลักดันให้ ร.ฟ.ท.มีความพร้อมในเรื่องการเตรียมบุคลากรสำหรับรองรับการให้บริการในอนาคต ทั้งระบบราง 1 เมตร และราง 1.435 เมตร
“หลักๆ เป็นการปรับทัศนคติให้ตรงกันว่า กิจการรถไฟเป็นของประเทศ และคนไทยทุกคนที่ต้องช่วยกันดูแล ดังนั้นพนักงานรถไฟฯ จะต้องร่วมกันสร้างความเข้มแข็งเพื่อให้กิจการรถไฟอยู่กับประเทศไทยต่อไปนานๆ” พล.อ.อ.ประจินกล่าว
ด้านนายอำพน ทองรัตน์ ประธานสหภาพฯ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ได้ขอความชัดเจนเรื่องการจัดตั้งกรมราง ซึ่งกระทรวงได้ระบุกรมรางจะทำหน้าที่ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและกำกับดูแล ส่วนงานซ่อมบำรุงและเดินรถยังอยู่กับ ร.ฟ.ท.เหมือนเดิม โดยตัดเอกชนออกจากงานซ่อมบำรุง ซึ่งสหภาพฯ เห็นว่าการตั้งกรมรางยังมีประเด็นเรื่องข้อกฎหมายที่ซ่อนอยู่ เรื่องการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน เนื่องจากการให้เอกชนนำรถมาวิ่งแข่งขันอย่างเสรีบนรางไม่ถูกต้อง เพราะระบบรางยังไม่เป็นทางคู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ปัญหาสำคัญ ข้อกฎหมายขนส่ง พ.ร.บ.การจัดวางรถไฟหลวง พ.ศ. 2464 และการบริหารจัดการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ด้วย ในมาตรา 43 ไม่ให้เอกชนเข้ามาวิ่งแข่งบนรางเพราะจะไม่เป็นธรรมกับรถไฟ และยังเป็นข้อกฎหมายที่ป้องกันไม่ให้เอกชนนำทรัพย์ของรถไฟฯ ไปบริหารจัดการเอง ซึ่งต้องเข้าใจว่าการลงทุนให้บริการรถไฟต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก จะมีเอกชนน้อยรายที่จะเข้ามาได้ ดังนั้นผลประโยชน์จะตกอยู่กับบางกลุ่มเหมือนการประมูลคลื่นมือถือที่มีผู้ประกอบการไม่กี่ราย ซึ่งล่าสุดก็มีเอกชน ทั้ง ซี.พี. และไทยเบฟ สนใจที่จะเข้ามาลงทุน สหภาพฯ เป็นห่วงทรัพย์สินรถไฟฯ ที่ควรจะคงอยู่กับ ร.ฟ.ท. เพราะหากจะให้เอกชนเข้ามาจะต้องยกเลิกพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง
“สหภาพฯ ไม่คัดค้านกรมราง แต่ต้องชัดเจนว่าจะเข้ามากำกับดูแลอะไรบ้าง และการแก้หรือยกเลิก พ.ร.บ. 2 ฉบับดังกล่าวจะทำให้เอกชนเข้ามาแข่งขันบนรางและยังนำที่ดินของรถไฟฯ ไปบริหารจัดการเอง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาภายใน ร.ฟ.ท. จึงได้ฝากให้ รมว.คมนาคมพิจารณา พร้อมกันนี้สหภาพฯ ยังพร้อมให้ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากร หลังจากนี้สหภาพฯ จะไปชี้แจงทำความเข้าใจกับพนักงานในเรื่องการจัดตั้งกรมราง พร้อมกันนี้จะให้ข้อมูลเรื่องการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับโครงการในอนาคต” นายอำพนกล่าว