ฉะเชิงเทรา - หอการค้าฉะเชิงเทราประชุมใหญ่สามัญถกแนวทางเตรียมพร้อมรับมือการขยายตัวทางภาคการขนส่งผ่านพื้นที่ ขณะรอง ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม แนะคนแปดริ้วให้ใช้โอกาสสำคัญจากการเติบโตในครั้งนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนในพื้นที่
วันนี้ (19 มี.ค.) ที่ห้องประชุมโชคอนันต์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ อ.เมืองฉะเชิงเทรา นายวัฒนา รัตนวงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมกรรมการบริหาร และสมาชิกได้ร่วมกันจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี สมาชิกหอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการขยายตัวของภาคการขนส่งในพื้นที่ที่กำลังจะเกิดขึ้น หลังจากเวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้
ในการประชุมได้มีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ลอจิสติกส์กับการพัฒนาเมืองฉะเชิงเทรา” โดยนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม มาเป็นผู้บรรยาย โดยระหว่างการบรรยายพิเศษนั้น นายชัยวัฒน์ ได้ชี้แนะให้ชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รู้จักการใช้ประโยชน์จากโอกาสของการเติบโตทางภาคการขนส่งในพื้นที่ที่กำลังจะมาถึงให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อคนในพื้นที่เอง
โดยเฉพาะ จ.ฉะเชิงเทรา ถือเป็นเมืองทางผ่านที่สำคัญ อยู่ในแนวระเบียงเศรษฐกิจอาเซียนสายใต้ หรืออยู่ในแนวของเส้นทางเซาเทิร์นคอริดอร์ สำหรับภาคการขนส่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ระหว่างเวียดนาม และทวาย ของพม่า ซึ่งถือว่าเป็นเส้นทางที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายที่สุด มากกว่าเส้นทางสายอื่นๆ เนื่องจากมีองค์ประกอบ และมีความพร้อมในเกือบทุกๆ ด้านมากกว่า เส้นทางระหว่างหนองคาย และแม่สอด จ.ตาก
อีกทั้งค่าจีพีพีต่อหัวของประชากรในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ก็ยังสูงมาก คือ ติดอยู่ในกลุ่ม 1 ใน 5 ของประเทศ จึงถือได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ หรือมีความพร้อมที่จะทำอะไรได้อีกอย่างมากมาย จึงต้องเลือกทิศทางการพัฒนาจังหวัดให้ดีให้ถูกต้องตรงเป้าตามทิศทางที่เหมาะสม พร้อมกับการใช้แนวทางที่จะพัฒนาร่วมกันกับกลุ่มจังหวัดข้างเคียงด้วย
ขณะเดียวกัน ยังได้พูดถึงภาคการขนส่งระบบรางที่ประเทศไทยกำลังร่วมมือพัฒนาภาคการขนส่งทางด้านนี้กับประเทศจีน จาก จ.หนองคาย ลงมาที่ จ.อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา จนถึงท่าเทียบเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และกรุงเทพฯ ที่จะมีการนำรถไฟขนาดราง 1.435 เข้ามาใช้ควบคู่กับรถไฟระบบเดิมของประเทศ โดยจะใช้แนวเส้นทางในแนวเดียวกันกับรถไฟสายเดิม แต่จะมุ่งเน้นทางภาคการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมากกว่า ซึ่งจะทำให้การขนส่งระบบรางของประเทศไทยเป็นระบบสากลมากยิ่งขึ้น
อีกทั้งยังสามารถใช้ร่วมกันกับรถไฟความเร็วสูง และรถไฟความเร็วปานกลางในภาคการขนส่งผู้โดยสารได้อีกด้วย
ส่วนการพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมต่อภาคการขนส่งมวลชนออกมาจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดต่างๆ นั้น ยังอยู่ระหว่างการศึกษา เนื่องจากต้องใช้การลงทุนที่สูงมาก ทางกระทรวงคมนาคม จึงได้ให้ความสำคัญ และเตรียมที่จะพัฒนารถไฟความเร็วปานกลาง (ประมาณ 160-180 กม./ชม.) ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพูดคุยกันร่วมกับประเทศจีน เพื่อที่จะนำมาใช้ในภาคการขนส่งในเส้นทางที่เรากำลังศึกษา คือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-หนองคาย, กรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-ระยอง รวม 4 เส้นทาง
นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่าทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ยังได้มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของการขุดเจาะอุโมงค์เพื่อตัดผ่านเส้นทางให้กระชับสั้นลง การขนส่งทำได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นนั้น ที่ผ่านมา การที่จะขุดเจาะอุโมงค์ผ่านพื้นที่สำคัญต่างๆ เช่น พื้นที่ป่าสงวน พื้นที่การอนุรักษ์ นั้นจะต้องดูกฎหมาย และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องของพื้นที่นั้นๆ จึงต้องมีการศึกษา หรือต้องผ่านขั้นตอนความเห็นชอบอีกหลายด้าน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้น
โดยปัจจุบัน คนไทยก็สามารถทำการขุดเจาะอุโมงค์ได้ด้วยเทคนิคสมัยใหม่ที่เราทำได้เองแล้ว โดยที่ไม่ต้องไปพึ่งพาเทคนิคจากบริษัทต่างชาติ แต่ปัจจุบันยังคงติดขัดในเรื่องของกฎหมายทางด้านสิ่งแวดล้อม ที่ยังคงต้องมีการศึกษา หรือแก้ไขเพื่อให้เกิดความเป็นไปได้มากขึ้น