xs
xsm
sm
md
lg

“ซัยโจเด็นกิ”แอร์ไทยเจาะญี่ปุ่น ทุ่ม 500 ล้าน ขยายตปท.-ดันยอด 3 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ซัยโจ เด็นกิ” แอร์ไทยรายแรก เจาะแดนซากุระสำเร็จ หวังเข็นส่งออกสู่ 50% เท่ารายได้ในประเทศปีนี้ ด้วยเป้ายอดขายรวม 3,000 ล้านบาทโตเท่าตัว ล่าสุดทุ่ม 500 ล้านบาท เพิ่มพื้นที่แวร์เฮาส์ เพิ่มกำลังผลิตรับส่งออก 3 ประเทศใหม่ มั่นใจ 3 ปี รายได้รวมทะลุ 5,000 ล้านบาท เบียดแชร์ขึ้นได้ที่ 19% อย่างในอดีต จากปัจจุบันมีแชร์ 8%

นายสมศักดิ์ จิตติพลังศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้รุกตลาดต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันสามารถส่งออกไปได้แล้วกว่า 20 ประเทศทั่วโลก โดยตลาดใหญ่จะเป็นกลุ่มตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดิอารเบีย การ์ต้า และดูไบ โดยสามารถทำยอดขายกว่า 300-400 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนที่ 35% ของรายได้รวม
ล่าสุดปีนี้บริษัทมีแผนทำตลาดในต่างประเทศอีก 3 ประเทศ คือ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ซึ่งทั้ง 3 ประเทศ ถือเป็นตลาดที่สำคัญ มีขนาดใหญ่และประเทศที่ทำตลาดยาก แต่หากเจาะเข้าไปได้ จะช่วยให้แบรนด์ซัยโจ เด็นกิแข็งแกร่ง และพร้อมที่จะเข้าไปทำตลาดในประเทศใดก็ได้หลังจากนี้ โดยในญี่ปุ่นจะเริ่มได้ในช่วง เดือนเม.ย. นี้ ล็อตแรกจำนวน 1,000 ชุด ออสเตรเลีย เริ่มได้ในช่วงก.ค.นี้

ส่วนสิงคโปร์ จะเข้าไปตั้งออฟฟิศ และทำตลาดได้ในช่วงหน้าร้อนนี้ ในจำนวน 1,000 ชิ้น เช่นกัน จัดจำหน่ายผ่านทางดิสทริบิวเตอร์ เบื้องต้นนำเสนอเพียง 1 รุ่น คือ อินเทลลิเจ้นท์ อินเวอร์เตอร์ ขนาด 12,000 บีทียู ราคา 25,000 บาท เท่าที่จำหน่ายในประเทศไทย เชื่อว่ารายได้จากทั้ง 3 ประเทศจะทำได้ถึง 1,000 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดส่งออกในปีนี้เพิ่มเป็น 1,400-1,500 ล้านบาท หรือสัดส่วนเท่ารายได้ในประเทศ
“ญี่ปุ่น ถือเป็นตลาดที่ยากที่สุด มูลค่าตลาดกว่า 1.44 ล้านล้านบาท หรือมีความต้องการต่อปีไม่ต่ำกว่า 7 ล้านเครื่อง ทั้งนี้ซัยโจ เด็นกิ หวังแชร์เพียง 1% ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ชาตินิยม เน้นใช้แบรนด์ในประเทศเป็นหลัก ซึ่งการเข้าไปทำตลาดครั้งนี้ได้ร่วมกับทางพันธมิตรเครื่องปรับอากาศระดับกลาง มูลค่ารายได้ราว 50,000 ล้านบาท เชื่อว่าจะเป็นไปได้ดี ส่วนสิงคโปร์ เป็นประเทศที่ชื่นชอบแบรนด์ญี่ปุ่น การเข้าไปทำตลาดถือเป็นความท้าทายเช่นกัน และหากทำตลาดใน 3 ประเทศสำเร็จ การทำตลาดในประเทศอื่นๆก็จะง่ายขึ้น”
อย่างไรก็ตาม จากการมุ่งเน้นตลาดต่างประเทศครั้งนี้ จากปกติมีการลงทุนปีละ 100-200 ล้านบาท เป็นปกติอยู่แล้ว ส่งผลให้ปีนี้มีการลงทุนสูงถึง 500 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.เพิ่มพื้นที่แวร์เฮาส์อีก 15,000 ตารางเมตร จากที่มีอยู่แล้ว 20,000 ตารางเมตร 2.งบ R&D 100 ล้านบาท และ 3.งบการตลาดอีก 80-100 ล้านบาท เน้นสร้างแบรนด์ และเพิ่มช่องทางขายในไทย ให้เติบโตอย่างยั่งยืน และกลับมามีแชร์ที่ 18-19% อีกครั้งให้ได้ใน 3 ปี จากปัจจุบันมีแชร์เพียง 8-9% เท่านั้น

โดยในแง่ของกำลังการผลิตนั้น ปีที่ผ่านมาได้ลงทุนด้านเครื่องจักรไปแล้ว 200 ล้านบาท ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2 แสนเครื่องต่อปี ซึ่งสามารถผลิตได้เต็มอัตราที่ 5 แสนเครื่องต่อปี ดังนั้นในแง่กำลังการผลิตจึงไม่มีปัญหาในการผลิตเพิ่ม โดยมองว่าภายใน 3 ปีนี้ จึงจะสามารถเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตได้
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากแผนการทำงานที่วางไว้ เชื่อว่าถึงสิ้นปีนี้ บริษัทจะมีรายได้รวมกว่า 3,000 ล้านบาท มาจาก ในประเทศและต่างประเทศ 50% เท่าๆกัน ถือเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากการรุก 3 ประเทศใหม่ โดยมองว่าภายใน 3 ปี จะมีรายได้รวมถึง 5,000 ล้านบาท ภายใต้สัดส่วนการส่งออกที่มากกว่าในประเทศ




กำลังโหลดความคิดเห็น