กรมพัฒนาธุรกิจการค้าปิ๊งดัน SMEs ไทยที่มีไอเดียใช้ประโยชน์จาก “คราวด์ ฟันดิ้ง” ในการระดมทุนทำธุรกิจ เตรียมเชิญ ก.ล.ต.ช่วยติวเข้มโอกาสและช่องทางให้ผู้ประกอบการ เล็งนำร่องดันธุรกิจที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว 1,580 รายใช้ระบบดังกล่าวหาเงินต่อยอดธุรกิจ เผยการผลักดันธุรกิจเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์มีความคืบหน้า หลัง ก.ล.ต.เข้ามาจีบ
น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ มีแผนที่จะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ที่มีไอเดีย มีความคิด มีแผนในการพัฒนาสินค้า พัฒนาธุรกิจ และต้องการสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจ เข้ามาใช้ประโยชน์จากการระดมทุนผ่านช่องทาง “คราวด์ ฟันดิ้ง” ซึ่งเป็นช่องทางใหม่ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในการระดมทุนทำธุรกิจ และยังเป็นการระดมทุนที่แตกต่างจากวิธีการเดิมๆ ที่เคยใช้กัน แต่สามารถช่วยในการระดมทุนได้อย่างรวดเร็ว
“กรมฯ มีแผนที่จะเชิญสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจจะใช้วิธีการระดมทุนแบบคราวด์ ฟันดิ้ง โดยจะแจ้งให้รู้ว่าปัจจุบันนี้มีการระดมทุนรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้น และผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงได้ง่ายๆ เพียงแค่มีไอเดีย มีความคิด ก็เอาไอเดีย เอาความคิดมาขาย แล้วให้คนมาช่วยระดมทุน เมื่อได้เงินทุนก็สามารถเอาไปใช้ต่อยอดธุรกิจได้” น.ส.ผ่องพรรณกล่าว
ทั้งนี้ กรมฯ จะผลักดันให้ธุรกิจที่อยู่ในการส่งเสริมและพัฒนาของกรมฯ รวมถึงธุรกิจที่ได้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพจากกรมฯ แล้วจำนวน 1,580 ราย ทั้งธุรกิจค้าส่งค้าปลีก แฟรนไชส์ บริการลอจิสติกส์ การท่องเที่ยว สุขภาพ บริการด้านบัญชี สำนักงานบัญชีคุณภาพ ธุรกิจบริหารทรัพย์สิน ธุรกิจที่ได้รับรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่น และธุรกิจสาขาต่างๆ ให้ใช้ประโยชน์จากการระดมทุนผ่านระบบคราวด์ ฟันดิ้ง
น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า คราวด์ ฟันดิ้ง เป็นการระดมทุนสาธารณะที่มีการพัฒนาขึ้น โดยคนที่มีไอเดีย มีความคิดในการทำธุรกิจ แต่ไม่มีเงินทุน สามารถนำเสนอไอเดียดังกล่าวผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก และขอรับการระดมทุนจากผู้ที่สนใจทั่วๆ ไป ซึ่งหลายรายประสบความสำเร็จในการระดมทุน จากการที่มีผู้สนใจในไอเดียว่าสามารถทำเป็นธุรกิจได้จริง โดยขณะนี้ในสหรัฐฯ มีเว็บไซต์ที่ให้บริการระดมทุนดังกล่าวแล้ว ได้แก่ Kickstarter, Indiegogos และ Crowdhoster
โดยในการระดมทุนดังกล่าว ผู้ที่ต้องการระดมทุนต้องชี้แจงความต้องการในการระดมทุนเพื่อไปใช้ทำอะไร มีแผนธุรกิจอย่างไร และหากธุรกิจประสบผลสำเร็จจะตอบแทนให้ผู้ลงทุนอย่างไร เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีการใหม่ และช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และดีกว่าการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในรูปแบบเดิมๆ เช่น การกู้เงินจากสถาบันการเงิน หรือการเข้าไประดมทุนในตลาดหุ้น
น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการผลักดันให้ธุรกิจที่อยู่ในความดูแลของกรมฯ จำนวน 1,580 รายเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ MAI ขณะนี้กรมฯ ได้มีการหารือกับ ก.ล.ต.แล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการคัดเลือกธุรกิจที่มีความพร้อมเพื่อเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการช่วยให้ SMEs ของไทยมีการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้มากขึ้น
“กรมฯ ต้องการช่วยให้ธุรกิจ SMEs มีความพร้อมในการทำธุรกิจ โดยได้เข้าไปช่วยเหลือตั้งแต่การส่งเสริมพัฒนาให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด และเมื่อธุรกิจเริ่มเดินได้ก็อยากจะส่งเสริมให้มีการพัฒนามากยิ่งขึ้นไปอีก โดยจะผลักดันให้มีการระดมทุน เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดธุรกิจเพื่อให้ธุรกิจเติบโต และยังเป็นการช่วยเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะมีการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น” น.ส.ผ่องพรรณกล่าว
สำหรับคราวด์ ฟันดิ้ง เป็นการระดมทุนสาธารณะที่เริ่มมีการแพร่หลาย หลังจากที่ระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กได้ขยายตัว และเข้าถึงคนทุกมุมโลกได้อย่างง่ายดาย โดยที่ผ่านมา การระดมทุนของคราวด์ ฟันดิ้ง มักจะเป็นไปในรูปแบบของการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือสังคม การขอบริจาค หรือใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ผ่านระบบโซเชียลมีเดียที่มีอยู่ และต่อมาได้ถูกพัฒนาจนมาเป็นเครื่องมือในการระดมทุนทางธุรกิจ และมีเว็บไซต์ที่ให้บริการอย่างชัดเจน ซึ่งในส่วนของไทย ตลาดหลักทรัพย์กำลังพิจารณากรอบและกำหนดแบบแผนในเรื่องของคราวด์ ฟันดิ้ง เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง