กรมพัฒนาธุรกิจการค้าระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านแฟรนไชส์ของประเทศไทยทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และสมาคมที่เกี่ยวข้อง จัดการปรับปรุงหลักเกณฑ์การพัฒนาระบบมาตรฐานแฟรนไชส์ไทยให้มีความทันสมัยและเทียบเคียงมาตรฐานสากล เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างแฟรนไชซอร์กับแฟรนไชซี พร้อมเป็นตัวกลางประสานสถาบันการเงินแก่ธุรกิจแฟรนไชส์สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดให้มีการระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านแฟรนไชส์ของประเทศไทยทุกภาคส่วน ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา สมาคมการแฟรนไชส์และไลเซนส์ สมาคมแฟรนไชส์ไทยและผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อทบทวน และพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยให้ทันกับสถานการณ์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยยังคงยึดแนวทางตามมาตรฐานแฟรนไชส์สากล
สาเหตุที่กรมฯ ผลักดันให้ธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการ เพื่อต้องการให้มีระบบการบริหารจัดการธุรกิจที่ดีได้มาตรฐานระดับสากล และเพื่อลดข้อขัดแย้งระหว่างแฟรนไชซอร์กับแฟรนไชซี รวมทั้งกรมฯ มีแผนที่จะประสานแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินแก่ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพฯ จากกรมฯ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยให้เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพฯ จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สถาบันการเงินในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์มากขึ้น เนื่องจากธุรกิจมีความเสี่ยงน้อย มีแผนธุรกิจที่ชัดเจนและมีมาตรฐาน ตลอดจนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกแก่ผู้ที่ต้องการจะมีธุรกิจเป็นของตนเอง และสนใจเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไชส์ (แฟรนไชซี) สามารถเลือกซื้อแฟรนไชส์จากผู้ขายที่มีมาตรฐานได้อย่างมั่นใจ ทั้งนี้ ระบบแฟรนไชส์เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจในการขยายสาขาที่มีประสิทธิภาพ ลดข้อจำกัด สร้างความได้เปรียบในด้านแหล่งเงินทุน และบุคลากรที่จะมาร่วมสร้างความเจริญเติบโตให้แก่องค์กร ช่วยสร้างธุรกิจรายใหม่ให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าและเร็วกว่าการเริ่มต้นธุรกิจด้วยตนเอง
กรมฯ ได้ดำเนินการส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยให้เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์มาตั้งแต่ปี 2552 และได้ทำการทบทวน ปรับปรุง ตลอดจนพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพฯ มาโดยตลอดเพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานแฟรนไชส์ของไทยให้มีความทันสมัยและทัดเทียมสากล โดยเฉพาะในปี 2558 นี้ที่กลุ่มประเทศในอาเซียนจะรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทำให้ตลาดการค้าการลงทุนมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีผู้บริโภคมากถึง 600 ล้านคน ซึ่งหากผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยมีการเตรียมความพร้อมที่ดีในทุกๆ ด้าน มีความน่าเชื่อถือ และมีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากลย่อมสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจแฟรนไชส์ไทย และมีโอกาสที่จะเป็นผู้นำกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ในภูมิภาคอาเซียน
โดยการระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญฯ ในครั้งนี้ เน้นการพัฒนาเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการให้มีมาตรฐานระดับสูง และสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดแก่ธุรกิจและผู้ประกอบการมากที่สุด โดยการยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจจำเป็นต้องมีการพัฒนามาตรฐานระบบปฏิบัติการและกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เหมาะสม เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจให้สามารถตอบสนองต่อลูกค้าในด้านมาตรฐานคุณภาพสินค้าและบริการอยู่เสมอ
ปัจจุบันมีธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจแฟรนไชส์จากรมฯ จำนวน 159 ราย แบ่งเป็น อาหารและเครื่องดื่ม 77 ราย (ร้อยละ 49) การศึกษา 32 ราย (ร้อยละ 20) บริการ 27 ราย (ร้อยละ 17) ความงามและสปา 13 ราย (ร้อยละ 8) และค้าปลีก 10 ราย (ร้อยละ 6)
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *