ภาคประชาชนส่งรายชื่อตั้ง 3 คณะกรรมการร่วมแก้ไขปัญหาพลังงานเรียบร้อยแล้ว ย้อนถามกระทรวงพลังงานจริงใจแค่ไหน ไม่อยากแก้ไขปัญหาหรือ? เมินตั้งคณะทำงานร่วม
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เปิดเผยว่า ทาง คปพ.ได้ส่งรายชื่อคณะทำงานชุดใหญ่คือภาครัฐและภาคประชาชน และคณะทำงานเพิ่มเติมอีก 3 ชุด รวมถึงที่ปรึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาพลังงานทั้งระบบไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว โดยเบื้องต้นทราบว่าทางฝ่ายรัฐโดยกระทรวงพลังงานส่งรายชื่อเข้าร่วมเพียงชุดใหญ่เท่านั้นและยืนยันว่าจะไม่ส่งเพิ่มเติมเพราะเห็นว่าแนวทางการแก้ไขกฎหมายเป็นเรื่องของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็เท่ากับว่ากระทรวงพลังงานไม่จริงใจจะแก้ไขปัญหา
“จริงๆ ความตั้งใจของรัฐก็คือต้องการให้มีการหารือในวันนี้ (3 มี.ค.) แต่เท่าที่ทราบกระทรวงพลังงานส่งรายชื่อเข้าร่วมคณะทำงานรัฐและภาคประชาชนมาแล้ว 4 ท่านแต่รู้สึกว่าเขาก็ยืนยันว่าจะไม่มาประชุมนะ และก็จะไม่ส่งชื่อเข้าร่วมคณะทำงานชุดอื่นๆ ที่เราเสนอ 3 ชุด ก็เท่ากับกระทรวงพลังงานไม่อยากแก้ไขปัญหาเหรอ ถ้าหนีแบบนี้แย่นะ ถ้าจริงใจก็ต้องมา และที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีเองก็มอบหมายให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาแก้ไข” ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าว
ทั้งนี้ การหารือที่ผ่านมาได้เห็นชอบร่วมกันใน 3 ประเด็น คปพ.จึงนำมาสู่การเสนอตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและประชาชนเพิ่มใน 3 คณะกรรมการดังกล่าว คือ 1. คณะกรรมการร่วมว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรปิโตรเลียมให้แก่ภาคประชาชน และการกำหนดโครงสร้างราคาเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนที่เวลานี้ราคาพลังงานสวนทางตลาดโลกซึ่งประชาชนไม่เข้าใจ 2. คณะกรรมการร่วมว่าด้วยการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียม และ 3. คณะกรรมการว่าด้วยการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมซึ่งว่าด้วยแปลงสัมปทานที่จะหมดอายุ ปริมาณสำรองก๊าซฯ ที่จะหมดลงใน 7 ปีหากไม่สำรวจและผลิตเพิ่ม เป็นต้น
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและประชาชนอยู่ภายใต้กรอบของการพิจารณาก่อนวันที่ 16 มี.ค. 2558 เมื่อรัฐบาลประกาศให้เลื่อนการเปิดสัมปทานออกไปก่อนเพื่อให้แก้ไขกำหมายภายใน 3 เดือน ดังนั้น ตามหลักการหากเป็นเรื่องของการแก้ไขกฎหมายก็ควรจะต้องมอบหน้าที่ให้ สนช. เป็นผู้พิจารณา โดยกระทรวงพลังงานจะเป็นผู้ที่คอยสนับสนุนด้านข้อมูลเนื้อหาของข้อกฎหมายจะดีกว่า