ผ่าประเด็นร้อน
ไปกันแบบด่วนจี๋ รวบรัดฉับไวสำหรับ การเดินทาง “วาระพิเศษ” ของ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ดูแลด้านความมั่นคงของประเทศ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นำคณะไปเยือนกัมพูชาเมื่อตอนเช้าวันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ โดยในทีมที่ร่วมเดินทางไปด้วย ยังมี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร พิจารณาจากตัวบุคคลแล้วน่าสนใจหรือเปล่า คำตอบย่อมมีอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว
แต่ที่น่าจับตามองไม่แพ้กัน ก็คือ การเดินทางไปเยือนกัมพูชาเที่ยวนี้เป็นไปในลักษณะ “ปิดลับ - เร่งด่วน” เพราะไม่ยอมให้สือติดตามไป อ้างว่าเป็นการไปเยือน “แบบส่วนตัว” ซึ่งคาดว่าจะไปเช้าเย็นกลับ ขณะเดียวกัน คาดหมายกันว่านอกจากได้หารือกันกับรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา พล.อ.เตียบัญ ตามสูตรของคนคุ้นเคยกันแล้ว “กำหนดการพิเศษ” นอกเหนือจากนั้นก็ต้องหารือลับกับ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่มีอำนาจสูงสุดที่นั่น
ส่วนจะเป็นการหารือเรื่องอะไรนั่น มันก็ต้องมาคาดเดา ปะติดปะต่อเชื่อมโยงกันเอาเอง เพราะก่อนไป พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ย้ำว่าไปแบบส่วนตัว ไม่ให้สื่อตามไปสังเกตการณ์ แต่เมื่อพิจารณาจากตัวบุคคลที่ไปรสมทั้งตัวบุคคลที่คาดว่าจะไปพบล้วนไม่ธรรมดา มันก็ทำให้ต้องพิจารณาถึง “เรื่องร้อน” ที่กำลังเผชิญกันอยู่ในช่วงนี้ทั้งสิ้น
เริ่มจาก “คำเตือนก่อเหตุรุนแรง” ที่เพิ่งออกมาจากปากของ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กล่าวเตือนเข้มเมื่อคืนวันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยระบุว่ามีความเคลื่อนไหวของบางกลุ่มเตรียมก่อเหตุรุนแรง พร้อมทั้งเตือนว่า “อย่าทำ” ไม่เช่นนั้นจะดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด
แน่นอนว่าเมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์หลายเรื่องในช่วงนี้มันก็อาจนำมาพิจารณาจนกลายเป็นมูลเหตุจูงใจกันได้พอดี และพอจะระบุได้ว่าน่าจะเป็นคนพวกไหน เริ่มจากการฟ้องคดีอาญา และการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท จากอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว รวมทั้งการถอดถอนพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองและการตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ หากเชื่อมโยงกับเหตุการณ์รุนแรงในอดีตต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันจากคดีวางระเบิดด้านข้างห้างสยามพารากอน ที่ตำรวจระบุว่ามีลักษณะเดียวกันกับเหตุการระเบิดที่มีนบุรีและสมานเมตตาแมนชั่น เมื่อสองสามปีก่อน ซึ่งกรณีการลอบวางระเบิดที่ห้างพารากอนเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการส่งฟ้องคดีรับจำนำข้าวไม่นาน รวมทั้งมีการพูดจาข่มขู่ว่าจะเกิดเหตุรุนแรงตามมา โดยอ้างถึงเรื่องการปฏิบัติแบบไม่เป็นธรรม จนในเวลาต่อมาทางรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เชิญตัวแกนนำคนเสื้อแดง และอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย บางคนไปปรับทัศคติ ห้ามวิจารณ์แสดงความเห็นในลักษณะก่อให้เกิดความแตกแยกขึ้นมาอีก
ขณะที่เรื่องร้อนอีกเรื่องหนึ่งในตอนนี้ก็น่าจะเป็นเสียงคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 (รอบล่าสุด) ที่นับวันกระแสยิ่งแรง มีทั้งนักวิชาการ นักธุรกิจหลายคน แม้กระทั่งนักการเมืองคนสำคัญเข้าร่วมอย่างน้อยพวกเขาเห็นควรให้รัฐชะลอการขอยื่นสิทธิ์สำรวจและสำรวจการปิโตรเลียมออกไปก่อน โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาให้ละเอียด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรเหล่านั้น ทำให้รัฐบาลต้องตั้งเวทีระดมความเห็นจากหลายฝ่าย และให้เลื่อนการยื่นสิทธิ์จากกำหนดจนถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ให้เลื่อนออกไปจนถึงวันที่ 16 มีนาคม และล่าสุดจากเวทีความเห็นที่ทำเนียบรัฐบาลที่ผ่านมากำลังจะมีการตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาศึกษาข้อมูลเพื่อหาข้อสรุปก่อนวันที่ 16 มีนาคม แต่ถึงอย่างไรภาคประชาชนก็กำลังจับตามองว่าถึงอย่างไรรัฐก็ยังเดินหน้าเปิดสัมปทานในวันที่ 16 มีนาคมนี้อยู่ดีหรือเปล่า
เรื่องดังกล่าวถือว่าเป็น “เรื่องร้อน” ขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาวบ้านโดยตรง งานนี้ไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ทางการเมือง แต่ก็ไม่แน่อาจบานปลายกลายเป็นเรื่องการเมืองหากมีการดึงดันเดินหน้าแบบไม่สนใจความเห็นจากภายนอก
ที่บอกว่าเป็นเรื่องร้อน และต้องเกี่ยวข้องกับการเดินทางไปกัมพูชาแบบส่วนตัวและด่วนของคณะสำคัญที่นำโดย รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ เพราะมีทั้งเรื่องความมั่นคง และพลังงานล้วนเกี่ยวข้องกัน เพราะทั้งคู่ดูแลกองทัพ และยังเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน นั่นแหละ
ขณะเดียวกัน หากพูดถึงเรื่องความมั่นคงและพลังงานก็ต้องเชื่อมโยงแบบแยกไม่ออกกับกัมพูชา ทั้งเรื่องชายแดน ปัญหาพลังงานในอ่าวไทย ที่ยืดเยื้อมานาน โดยเฉพาะเรื่องพลังงานล่าสุดทั้งสองฝ่ายได้ประกาศว่าจะเดินหน้าเจรจาและสำรวจ ที่น่าจับตาก็คือบรรดาบริษัทพลังงานที่เตรียมเข้าสำรวจในพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นบริษัทที่จะเข้าขอยื่นสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมในระบบสัมปทานกับกระทรวงพลังงานของไทยที่ต้องยืดเวลาจนถึงวันที่ 16 มีนาคมนี้ด้วย ซึ่งทุกเรื่องก็เกี่ยวข้องกับ ฮุนเซน ผู้นำกัมพูชา
เพราะหากพูดถึงเรื่อง “ความรุนแรง” ก็ต้องเพ่งเล็งไปที่คดีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มวลชนคนเสื้อแดง คำพูดของตำรวจที่เชื่อมโยงกรณีระเบิดที่ด้านข้างห้างสยามพารากอนว่าเป็นการก่อเหตุในลักษณะเดียวกับระเบิดที่มีนบุรีและสมานเมตตาแมนชั่น จังหวัดนนทบุรี ขณะเดียวกัน ถ้าพูดถึงแหล่ง “กบดาน” ของเครือข่ายทักษิณ ก็ต้องนึกถึงกัมพูชา และฮุนเซน รวมทั้งพลังงานในอ่าวไทย ดังนั้นทุกเรื่องก็อาจเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” อีกแล้ว
ก็ต้องติดตามกันว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องนำคณะไปกัมพูชา และเร่งด่วนและเป็นไปในลักษณะใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวครั้งนี้ เหมือนกับไป “เคลียร์” บางอย่างให้ชัวร์ ขณะเดียวกัยมันก็เหมือนกับขอความร่วมมือ “ขอร้อง” กันบางอย่างอีกด้วย !!