เกาะกระแส
00 นอกจากเรื่องปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ราคาสินค้าค่าครองชีพที่เป็นเรื่องที่ชาวบ้านติดตามสนใจอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุด แต่ขณะเดียวกันเวลานี้กลายเป็นว่าเรื่องปัญหาพลังงานก็กลายเป็นจุดสนใจหลักอีกเรื่องหนึ่ง เพราะมันเกี่ยวโยงกันแบบแยกไม่ออก หากราคาพลังงานปรับขึ้นราคาเมื่อไหร่ ทุกอย่างก็จะขยับตาม หรือขยับไปรอล่วงหน้าแล้ว ทำให้ต้องยอมรับว่าปัญหาพลังงานกลายเป็นเรื่องอ่อนไหวมากขึ้นเรื่อยๆ
00 อย่างไรก็ดีเมื่อพลังงานเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง เพราะมีเรื่องผลประโยชน์มหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่คำถามก็คือผลประโยชน์ดังกล่าวนั้นมันตกอยู่ที่ใคร อยู่ที่กลุ่มทุน ข้าราชการและนักการเมืองผู้มีอำนาจที่สมคบกันบางพวกหรือไม่ และประชาชนในฐานะที่ถูกอ้างแบบสวยหรูว่าเป็นเจ้าของทรัยากรเหล่านั้นจะได้รับส่วนแบ่งที่เป็นธรรมหรือไม่ และแน่นอนว่าในเวลานี้ชาวบ้านเริ่มมีการตื่นตัวออกมาทวงถามสิทธิ์ของตัวเองมากขึ้น ออกมาโวยวายเรียกร้องให้รัฐต้องเร่งจัดการเรื่องพลังงานกันใหม่ ซึ่งกำลังกลายเป็นแรงกระแทกเข้าใส่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าไปเต็มๆ
00 จากเดิมที่คิดว่าจะใช้ความศรัทธาส่วนตัวที่ชาวบ้านเคยมีให้แบบท่วมท้นออกมาการันตีด้วยปากเปล่าว่าจะยึดประโยชน์ของชาติและประชาชน จะจัดการปฏิรูปโครงสร้างพลังงานใหม่ด้วยราคาที่เป็นธรรม มีการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เพื่อปฏิรูปปัญหาหลักทั้ง 11 ด้าน และเรื่องพลังงานก็เป็นหนึ่งในนั้น แถมมีการตั้งคนของภาคประชาชนที่ต่อสู้พลังงานอย่าง รสนา โตสิตระกูล เข้าไปอยู่ในสปช.แต่อีกด้านหนึ่งรัฐบาลที่มี รมว.พลังงาน ณรงค์ชัย อัครเศรณี ก็ไฟเขียวให้ปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี เอ็นจีวีภาคขนส่ง อ้างว่าเพื่อให้เป็นไปตามกลไกตลาด ขณะเดียวกันก็รีบเร่งเปิดสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่จำนวน 29 แปลง โดยไม่ยอมฟังคำทักท้วงของภาคประชาชน อ้างแต่เพียงว่าวิธีการให้สัมปทานได้ประโยชน์มากกว่า และเป็นการดึงดูดการลงทุนมากกว่า รวมไปถึงข้ออ้างว่าที่บ้านเราไม่มีแหล่งพลังใต้ดินใต้ทะเลมากมายอย่างที่เข้าใจกัน และที่สำคัญก็คือต้องรีบรวบรัดดำเนินการเพราะหากไม่ทำตอนนี้อีกไม่กี่ปีก็จะเกิดวิฤติด้านพลังงาน อะไรทำนองนี้
00 ขณะที่เสียงเรียกร้องให้รัฐเปลี่ยนจากวิธีให้สัมปทานมาเป็นแบ่งปันผลประโยชน์ เช่นได้มา 100 จะแบ่งกันเท่าไหร่ ครึ่งครึ่ง หรือหกสิบสี่สิบ หรือเท่าไหร่ก็ว่ากันไป แบบนี้ไม่ดีกว่าหรือเหมือนกับทั่วโลกที่ระยะหลังทำแบบนี้ แต่รัฐบาลและคสช.ไม่เอาวิธีนี้ไปฟังนักวิชาการ เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานที่อ้างว่าถ้าทำแบบนั้นจะไม่มีใครมาลงทุน และปริมาณพลังงานไม่มากอย่างที่เข้าใจกันดังกล่าว แต่ยิ่งอ้างยิ่งชี้แจงชาวบ้านก็ไม่เชื่อแถมยังมีข้อมูลมาหักล้าง จนมีกระแสตื่นตัวต่อต้านมากขึ้น จนมีแนวโน้มทำลายศรัทธาต่อรัฐบาล ต่อนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงไปอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้จึงต้องเบรกเกมด้วยการส่งเรื่องโยนให้ สปช.ด้านปฏิรูปพลังงานไปหาข้อสรุปภายใน 2 เดือน แล้วเสนอมาที่รัฐบาลตัดสินใจอีกที
00 มองเผินๆก็เหมือนใจกว้าง ยอมถอยเพื่อรับฟังเสียงประชาชน ฟังเสียงค้าน แต่หากมองอีกมุมหนึ่งมันก็เหมือนกับเป็นการใช้ สปช.สร้างความชอบธรรมให้หรือไม่ ลองคิดดูว่าสัดส่วนตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงานเป็นคนของฝ่ายรัฐกี่คน เป็นคนที่ใกล้ชิดกับบริษัทพลังงานกี่คน มีเพียง รสนา โตสิตระกูล ที่หัวเดียวกระเทียมลีบ โหวตอีกพันครั้งก็แพ้ทุกครั้ง เมื่อเป็นมติออกมาก็นี่ไง สปช.เห็นแบบนี้ส่งให้รัฐบาลก็ทำตาม เรียบโร้ย !!
00 วันที่ 30-31 ต.ค."ลุงตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะนำคณะไปเยือนกัมพูชา ตามคำเชิญของฮุนเซน แน่นอนว่านอกจากลงนามในหนังสือ 3 ฉบับที่ประกาศให้ทราบไปแล้ว หัวข้อสำคัญก็คือหารือเรื่อง"ธุรกิจพลังงาน"ในทะเลอ่าวไทย เดี๋ยวก็รู้ว่า"ใครเสร็จใคร"งานนี้ข่าวว่าไม่ใช่ฝ่ายโน้นเร่งยิกๆฝ่ายเดียว ฝ่ายเราก็ไม่เบาเหมือนกัน ก็อย่างที่ รมว.พลังงาน ณรงค์ชัย เคยหลุดปากออกมานั่นแหละว่าต้องทำให้เสร็จภายในรัฐบาลนี้ไงละ !!
00 ส่วนคนนี้ก็น่าสนใจ "พี่ป้อม"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ก็มีคิวบินลัดฟ้าไปเมืองจีนในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ตามข่าวไม่ได้เปิดเผยกำหนดการ แต่ระดับนี้ต้องเป็น"วาระสำคัญ"ระดับใหญ่ยักษ์แน่นอน และเพิ่งรู้จากปากของ "น้องตู่"ว่าไปจีนเที่ยวนี้ไปขายข้าว ขายยางพารา เรื่องบิ๊กโปรเจ็กต์คมนาคม ภาระหนักเกินไปหรือเปล่า อ้อ แล้วไม่ต้องมาถามให้หงุดหงิดอีกนะว่า "จะพบกับแม้ว"หรือเปล่า ไม่มี๊ ไม่มี ไม่เกี่ยว !!