xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกมึนออเดอร์ไปอียูขาดทุน ลุ้นรัฐลด ดบ.หนุนค่าบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ส่งออกไทยมึนออเดอร์ไปอียูทั้งที่ซื้อขายเป็นสกุลเงินยูโรและดอลลาร์ชะงัก เหตุถูกต่อรองราคาหนักไม่สามารถรับได้หลังค่าเงินยูโรอ่อนหนักเทียบค่าเงินบาทยังแข็งนำประเทศเพื่อนบ้าน หวัง “กนง.” ลดดอกเบี้ย 0.50% กดค่าบาทดูแลเศรษฐกิจ

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ผลิตและส่งออกที่พึ่งพิงตลาดสหภาพยุโรปหรืออียูหลายรายเริ่มประสบภาวะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินสกุลยูโรที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องสำหรับคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) เดิมที่ตกลงซื้อขายล่วงหน้าไปแล้ว ส่วนออเดอร์ใหม่ขณะนี้ส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถรับได้เพราะถูกต่อรองราคา ภาวะค่าเงินดังกล่าวหากพิจารณาค่าเงินบาทของไทยพบว่าสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะคู่แข่งทางการค้า ดังนั้นภาคเอกชนจึงเห็นว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา 0.50% จาก 2% เพื่อปรับค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงมาในการดูแลขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ส่งออก

“ค่าเงินบาทไทยแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งมาก ดอกเบี้ยเองก็เฉลี่ยสูงกว่า ขณะที่เงินยูโรที่อ่อนค่าลงล่าสุดเฉลี่ย 18% เมื่อคิดกลับเป็นเงินไทยคือขาดทุนราว 4 บาทต่อยูโร ใครที่พึ่งตลาดอียู 100% ขาดทุนแน่นอน ดังนั้นถ้าลดดอกเบี้ยลง 0.50% จะทำให้ค่าเงินไทยอ่อนค่าลงมาเมื่อเทียบกับสกุลยูโรเพียงพอที่จะไม่ทำให้เอกชนรับภาระขาดทุนหรือรับออเดอร์ใหม่ได้ ซึ่งหากดูเงินเฟ้อไทยเองก็ได้สูง หลักการถ้าเงินเฟ้อต่ำก็ควรลดดอกเบี้ยลง” นายวัลลภกล่าว

ทั้งนี้ ไทยส่งออกไปยังตลาดอียูนั้นคิดเป็นสัดส่วน 9% ของตลาดส่งออกรวม โดยการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวพบว่าครึ่งหนึ่งซื้อขายโดยอิงสกุลเงินยูโร และอีกครึ่งหนึ่งอิงสกุลเงินเหรียญสหรัฐ โดยออเดอร์เก่าที่อิงสกุลยูโรนั้นกำลังประสบภาวะขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ออเดอร์ใหม่ทั้งสกุลเงินอียูและดอลลาร์ล้วนถูกต่อรองราคาลดลงเฉลี่ย 10-15% โดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์ที่เดิมมองว่าอาจจะไม่กระทบแต่ล่าสุดเริ่มถูกต่อรองราคาแล้วเนื่องจากผู้รับซื้อก็ต้องไปคิดเป็นเงินอียูกลับซึ่งอ่อนค่าเงินเช่นกัน

นายวัลลภกล่าวว่า หากสถานการณ์ดังกล่าวยืดเยื้อต่อเนื่องและค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าอย่างมากเมื่อเทียบยูโรในระยะสั้นจะทำให้การรับออเดอร์ใหม่หยุดชะงักลงทั้งหมด ก็คาดการณ์ว่าตลาดอียูที่ไทยส่งออกคิดเป็น 9% ของการส่งออกทั้งหมดจะมีแนวโน้มลดลง และจะกระทบต่อเนื่องไปยังการส่งออกภาพรวมของไทยที่อาจขยายตัวไม่ถึง 1.5%
กำลังโหลดความคิดเห็น