xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กจิน” ยัน บพ.ต้องเร่งปรับปรุงตามเกณฑ์ ICAO

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประจิน” ยอมรับ บพ.ต้องแก้ไขหัวข้อที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ ICAO ยันมีเวลาปรับปรุงและยังไม่ถูกลดเกรด

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีกรมการบินพลเรือน (บพ.) ได้เข้ารับการตรวจสอบ ภายใต้โครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล (Universal Safety Oversight Audit Program; USOAP) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ในช่วงระหว่างวันที่ 19-30 มกราคม 2558 ว่า พบว่าวิธีการตรวจสอบจะมีคำถามจำนวน 1,016 ข้อในทุกด้านอย่างครอบคลุม ซึ่งผลพบว่าหัวข้อที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย 2 ข้อที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องมีการแก้ไขคือ กระบวนการรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ หรือ Air Operator Certificate และการออกกำหนดการปฏิบัติการ หรือ Operation Certification ส่วนในหัวข้อการรับรองการขนส่งสินค้าอันตราย (Dangerous Goods) อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องมีการแก้ไข ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดตั้งแต่ปี 2548 ที่เคยมีการตรวจสอบแล้วและยังไม่ได้แก้ไขให้ครบถ้วน และประเด็นปัญหาที่ธุรกิจการบินมีการขยายตัวมากขึ้น

โดย บพ.จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง แก้ไขขั้นตอนกระบวนการเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย และกระบวนการปฏิบัติต่างๆ การอบรมเจ้าหน้าที่ และฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีจำนวนเพียงพอต่อการกำกับดูแลและให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน ระยะเวลาจะต้องให้เพียงพอต่อการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง การจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยเกณฑ์ที่ต้องมีการแก้ไขทั้งหมดนี้ยังไม่ส่งผลใดๆ ต่อการบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยจะมีการแจ้งผลการแก้ไขผ่านเว็บไซต์ภายในถึงวันที่ 2 มีนาคม จากนั้นเมื่อแก้ไขได้ครบถ้วนภายใน 90 วันจะมีการแจ้งเผยแพร่สาธารณะต่อไป แต่หากไม่สามารถแก้ไขให้ผ่านเกณฑ์ได้จะมี 2แนวทาง คือ ให้แก้ไขเพิ่มเติม หรือลดเกรดของ บพ. หากผ่านเกณฑ์จะมีการประเมินคุณสมบัติของ บพ. และให้ บพ.ไปทำการรับรองสายการบินอีกครั้งต่อไป

ทั้งนี้ การตรวจสอบตามโครงการฯ ได้กำหนดให้แบ่งหัวข้อหลักในการตรวจสอบ 8 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านกฎหมายและระเบียบต่างๆ (Legislation and Regulations; LEG) 2. ด้านหน่วยงานและหน้าที่การกำกับดูแลความปลอดภัย (Organization and safety oversight functions; ORG) 3. ด้านการออกใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ (Personnel Licensing; PEL) 4. ด้านการปฏิบัติการบินของอากาศยาน (Aircraft operations; OPS) 5. ด้านสมควรเดินอากาศของอากาศยาน (Airworthiness of Aircraft; AIR) 6. ด้านการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยาน (Aircraft Accident and Incident Investigations; AIG) 7. ด้านการบริการการเดินอากาศ (Air Navigation Services; ANS) และ 8. สุดท้ายด้านสนามบินและการช่วยเดินอากาศภาคพื้น (Aerodrome and Ground Aids; AGA)
กำลังโหลดความคิดเห็น