ไออาร์พีซีฟุ้งบันทึกรับรู้กำไรพิเศษในไตรมาส 1/2558 ประมาณ 2-3 พันล้านบาท หลังจากตัดสินใจซื้อที่ดิน “ทีพีไอ อะโรเมติกส์” มูลค่า 4.24 พันล้านบาท ทำให้ได้รับชำระหนี้คืนกลับมาในฐานะเจ้าหนี้ใหญ่ ส่วนที่ดินกว่า 1 พันไร่มีแผนจะตั้งโรงงานผลิตพาราไซลีน 1.6 ล้านตัน/ปิ โดยดึง PTTGC-TOP เข้าร่วมทุนด้วย เบื้องต้นศึกษาความเป็นไปได้โครงการหลังราคาพาราไซลีนตก
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)(IRPC) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ซื้อที่ดินของ บมจ.ทีพีไอ อะโรเมติกส์ จากการขายทอดตลาดโดยที่ประชุมเจ้าหนี้ภายใต้ เป็นวงเงิน 4,244 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาประเมินเฉลี่ยโดยผู้ประเมินอิสระ และเป็นไปตามกรอบราคาที่บริษัทได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทให้เข้าร่วมซื้อที่ดินดังกล่าว ด้วยมูลค่าที่ไม่สูงกว่าราคาประเมินสูงสุดของผู้ประเมินราคาอิสระ
โดยที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตประกอบอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จังหวัดระยอง เนื้อที่รวม 1,060 ไร่ ประกอบด้วยที่ดินของบริษัท ทีพีไอ อะโรเมติกส์ จำกัด (มหาชน) เนื้อที่ 999 ไร่ และที่ดินที่บริษัทถือกรรมสิทธิ์ร่วมเนื้อที่ 61 ไร่ ซึ่งที่ผ่านมาไออาร์พีซีในฐานะผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ใหญ่ในบริษัท ทีพีไอ อะโรเมติกส์ได้บันทึกเผื่อเป็นหนี้สูญไปแล้วประมาณ 3 พันล้านบาท ซึ่งการซื้อที่ดินทีพีไอ อะโรเมติกส์ในครั้งนี้ทำให้บริษัทดังกล่าวมีเงินไปชำระคืนหนี้บริษัทฯ และบริษัทย่อยในเครือฯ ที่เป็นเจ้าหนี้ทั้งหมดของทีพีไอ อะโรเมติกส์ได้ ทำให้ไตรมาส 1/2558 บริษัทฯ จะบันทึกเป็นกำไรพิเศษเข้ามาเป็นวงเงิน 2-3 พันล้านบาท
นอกจากนี้ การซื้อที่ดินดังกล่าวจะทำให้ไออาร์พีซีสามารถเข้าไปดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำที่ดินไปพัฒนาเพื่อจำหน่ายหรือดำเนินโครงการต่างๆ รองรับการเติบโตของบริษัทในอนาคต โดยมีแผนจะตั้งโรงงานผลิตพาราไซลีนภายหลังจากโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สะอาด (UHV) แล้วเสร็จในไตรมาส 3/2558
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผลิตภัณฑ์พาราไซลีนมีราคาที่ไม่ดี ทำให้บริษัทและพันธมิตรทั้ง บมจ.พีทีที โกลบอลเคมิคอล (PTTGC) ต้องศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนอีกครั้ง โดยล่าสุด บมจ.ไทยออยล์ (TOP) จะเข้ามาร่วมทุนในโครงการดังกล่าวด้วย เนื่องจากแผนการขยายกำลังการกลั่นของไทยออยล์ทำให้มีวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตพาราไซลีนเพิ่มขึ้น แต่ไม่เพียงพอที่จะตั้งโรงงานได้ ส่งผลให้โครงการดังกล่าวมีขนาดกำลังการผลิตพาราไซลีนเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 ล้านตัน จากเดิม 1.2 ล้านตัน/ปี ใช้เงินลงทุน 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับผลการดำเนินงานงวดปี 2557 ไออาร์พีซีขาดทุนสุทธิ 5.23 พันล้านบาท เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้านี้มีกำไรสุทธิ 826.27 ล้านบาท หรือลดลง 734% สาเหตุที่บริษัทประสบปัญหาขาดทุนมากเนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง ทำให้ขาดทุนสต๊อกน้ำมันสูงเกือบ 6 พันล้านบาทในไตรมาส 4 /2557 และขาดทุนจากค่าเผื่อการลดลงของราคาสินค้าคงเหลือ (LCM) อีกเกือบ 3 พันล้านบาทด้วย