จุฬาฯ ต่อยอด Smile Milk ช่วยเกษตรกรสู้เปิดเสรีได้อย่างยั่งยืน เตรียมผลักดันขยายแฟรนไชส์ Smile Milk ให้เพิ่มเป็น 20 สาขา โชว์สินค้าใหม่ นมกล้วยหอม และสังขยาเข้าสู่ชั้นวาง
รศ.นพรัตน์ รุ่งอุทัยศิริ หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนากลไกรองรับยุทธศาสตร์ด้านการตลาดนมโคสดแท้ 100% ของประเทศไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาให้กับอุตสาหกรรมการผลิตน้ำนมโคสดของไทยหลังจากได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุน FTA กระทรวงพาณิชย์ว่า ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังขยายการให้ความช่วยเหลือให้เข้มข้นมากขึ้น โดยจะเร่งผลักดันและขยายแฟรนไชส์ Smile Milk ให้เพิ่มเป็น 20 สาขา และจะนำระบบไอทีเข้ามาบริหารจัดการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แบรนด์และสร้างตลาดที่ยั่งยืนให้แก่นมโคสดแท้ 100% ของไทย
ทั้งนี้ ในปัจจุบันแฟรนไชส์ Smile Milk ได้เริ่มเป็นที่รู้จักและติดตลาด ในฐานะสินค้าที่จำหน่ายใช้นมโคสดแท้ 100% ปราศจากเคมีสังเคราะห์และสารกันบูด โดยมีสินค้าเด่น คือ ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ (Soft Serve), นมปั่นเกล็ดหิมะ (Slush) ซึ่งทำจากนมโคแท้ ไม่ได้ใส่น้ำแข็งเลย ใช้เครื่องที่เป็นเครื่องเฉพาะปั่นให้เป็นเกล็ดหิมะ, พานา คอตตา (Pana Cotta) ซึ่งเป็นพุดดิ้งสไตล์อิตาลี, ทีเฟอร์ เป็นโยเกิร์ตของกรีซ มีคุณประโยชน์ ป้องกันมะเร็งลำไส้, วาฟเฟิล (Waffle) ผลิตจากนมสดแท้ 100% หอม หวาน กรอบ นุ่มมาก
“ในอนาคตเรากำลังจะพัฒนาสินค้าให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งล่าสุดได้คิดค้นนวัตกรรมสกัดกล้วยหอมเป็นผงแล้วนำมาผสมกับนมเพื่อทำเป็นนมกล้วย จากเดิมที่นมกล้วยจะเป็นแบบใส่กลิ่นให้เหมือน โดยเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากในญี่ปุ่น และขณะนี้เอกชนได้ขอซื้อนวัตกรรมไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแล้ว ส่วนอีกตัวหนึ่งต้องการนำเสนอ คือ สังขยา ซึ่งเป็นสังขยาที่ไม่ได้ใช้ไข่เลย แต่ใช้นมสดแท้ 100% กำลังจะออกสู่ตลาดเร็วๆ นี้” รศ.นพรัตน์กล่าว
สำหรับการเข้าไปให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมดังกล่าว กองทุน FTA กระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาวิจัยหาทางแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า เพราะมีนมผงนำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาด ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 และมีผลงานออกมาคือ การจัดทำเครื่องหมายรับรอง “โบทอง” เพื่อรับประกันว่าเป็นนมโคสดแท้ 100% และพัฒนาแฟรนไชส์ Smile Milk เพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมโคสดแท้ออกสู่ตลาด ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทยให้สามารถต่อสู้กับการเปิดเสรีทางการค้าได้