“อาคม” เร่งพัฒนาเส้นทางถนนพื้นที่ภาคใต้เพิ่มความสะดวก เชื่อมเดินทางสองฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย บูมท่องเที่ยว เชื่อมโครงข่ายจากสนามบินสุราษฎร์ฯ ต่อรถไปลงเรือเฟอร์รี ขึ้นเกาะสมุย โดยรับประกันเวลาได้ เผยเหตุสนามบินสุมยรองรับได้จำกัด พร้อมเร่งพัฒนาสนามบินสุราษฎร์ฯ ให้รับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ได้เร่งรัดการพัฒนาโครงข่ายถนนและระบบขนส่งรถโดยสารสาธารณะในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่างเกาะสมุย-จ.สุราษฎร์ธานี-จ.ภูเก็ต-จ.กระบี่-จ.พังงา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ให้มีความสะดวก รวดเร็ว เนื่องจากปัจจุบันสนามบินสมุย ซึ่งอยู่ในความดูแลของบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีปริมาณจราจรวันละกว่า 30 เที่ยวบินซึ่งการรองรับเที่ยวบินได้จำกัด ขณะที่สนามบินสุราษฎร์ธานีของกรมการบินพลเรือน (บพ.) ปริมาณผู้โดยสารเติบโตก้าวกระโดด 3-4 เท่า โดยเพิ่มจาก 3 แสนคนต่อปีเป็น 1 ล้านคนต่อปี ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะพิจารณาแผนปรับปรุงขยายขีดความสามารถของสนามบินสุราษฎร์ธานี เช่น เพิ่มสะพานเทียบเครื่องบิน ขยายหลุมจอด และที่จอดรถ เป็นต้น
โดยจะมีการรับปรุงเส้นทางที่เป็นคอขวดเพื่อเชื่อมการเดินทางจาก จ.สุราษฎร์ฯ ด้วยถนนไปยังท่าเรือและโดยสารเรือเฟอร์รีไปยังเกาะสมุยให้สะดวกรวดเร็วขึ้น เพิ่มทางเลือกให้นักท่องเที่ยวในการเดินทางสู่เกาะสมุยแทนที่การบินตรง ซึ่งปัจจุบันสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) ได้ร่วมกับผู้ประกอบการเรือเฟอร์รีและรถโดยสารทำโปรโมชั่นการตลาดร่วมกัน เพื่อเชื่อมการเดินทาง 3 รูปแบบ คือ เครื่องบิน-รถ-เรือ ไปยังเกาะสมุยได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งหากเส้นทางถนนมีความสมบูรณ์จะสามารถรับประกันเวลาในการเดินทางได้จะช่วยให้การเดินทางได้รับความนิยมมากขึ้นและเป็นทางเลือกที่ช่วยลดความแออัดของสนามบินสมุย
ในส่วนโครงข่ายถนนนั้น กรมทางหลวงอยู่ระหว่างออกแบบโครงการขยาย 4 ช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 420 ตอนวงแหวนรอบเมืองสุราษฎร์ธานี (ด้านทิศเหนือ ) ระยะทาง 32.97 กม. วงเงิน 670 ล้านบาท (ก่อสร้างปี 59-61) เชื่อมการเดินทางเข้าออกตัวเมืองสุราษฎร์ฯ และเชื่อมภาคใต้ตอนบนและด้านตะวันตกสู่ภาคใต้ตอนล่าง, โครงการขยาย 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 417 ตอนท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี-ค้อล่าง ระยะทาง 6.35 กม. วงเงิน 330 ล้านบาท และสะพานที่ กม.1+450 วงเงิน 120 ล้านบาท (ก่อสร้างปี 59-60)
โครงการออกแบบก่อสร้างทางแยกต่างระดับ แยกทางหลวงหมายเลข 420 กับทางหลวงหมายเลข 4009 (แยกบางใหญ่) วงเงิน 600 ล้านบาท (ก่อสร้างปี 59-60), โครงการออกแบบก่อสร้างทางแยกต่างระดับ แยกทางหลวงหมายเลข 420 กับทางหลวงหมายเลข 401 (แยกท่ากูบ) วงเงิน 800 ล้านบาท (ก่อสร้างปี 59-61), โครงการออกแบบก่อสร้างทางแยกต่างระดับ แยกทางหลวงหมายเลข 41 กับทางหลวงหมายเลข 417 (แยกสนามบิน), โครงการออกแบบก่อสร้างทางแยกต่างระดับ แยกทางหลวงหมายเลข 420 กับทางหลวงหมายเลข 401 และทางหลวงหมายเลข 4213 (แยกบางกุ้ง) เป็นต้น
“เป้าหมายของการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทั้งการปรับปรุงผิวทางและขยาย 4 เลนนั้นเพื่อเชื่อมเส้นทางระหว่างกระบี่-ขนอมให้สะดวก ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ด้านท่องเที่ยวระหว่างเกาะสมุยกับหมู่เกาะอันดามัน เชื่อมกระบี่-ภูเก็ต พังงา-ภูเก็ต ส่วนรถโดยสารนั้นได้มอบหมายให้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) พิจารณาเพิ่มเส้นทางและความถี่ของเส้นทางเดินรถระหว่างภาคให้มากขึ้นด้วย” นายอาคมกล่าว