“การบินกรุงเทพ” พร้อมเทรดในตลาดฯ วันที่ 3 พ.ย.นี้ ในกลุ่มบริการ หมวดธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ เผยบริษัทเล็งเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจการบินรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 58 มั่นใจรายได้ปีหน้าโตก้าวกระโดด
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า ตลท. ได้รับหลักทรัพย์บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ BA เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน และเริ่มทำการซื้อขาย ในวันที่ 3 พ.ย. 57 ในกลุ่มบริการ หมวดธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์
โดย BA มีจำนวนหุ้นจดทะเบียนกับ ตลท.จำนวน 2,100 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 1 บาทต่อหุ้น โดยมีจำนวนหุ้น IPO อยู่ 520 ล้านหุ้น ราคา IPO ที่ 25 บาทต่อหุ้น โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ทั้งนี้ BA ประกอบธุรกิจสายการบิน ธุรกิจสนามบิน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน ได้แก่ การให้บริการกิจการภาคพื้นดิน การให้บริการอาหารบนเที่ยวบิน และการให้บริการคลังสินค้าระหว่างประเทศ ให้กับสายการบินของตนเองและสายการบินอื่นๆ โดยผ่านบริษัทย่อยและบริษัทร่วมของ BA ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัทสามารถแบ่งออกเป็นธุรกิจหลักและกลุ่มธุรกิจ ดังนี้
1. ธุรกิจสายการบิน ซึ่ง BA เป็นสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ โดยมุ่งเน้นบริการระดับพรีเมียมให้แก่ผู้โดยสารบริษัท ซึ่งประกอบด้วยการให้บริการเที่ยวบินแบบประจำ และการให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำ นอกจากนี้ มีการทำความตกลงเที่ยวบินร่วม (Code Share Agreement) ทำให้เครือข่ายเส้นทางการบินของบริษัทฯ ได้ขยายออกไปครอบคลุมจุดหมายปลายทางในต่างประเทศ
2. ธุรกิจสนามบิน ทั้งนี้ BA เป็นเจ้าของและผู้ดำเนินกิจการสนามบินสมุย สนามบินตราด และสนามบินสุโขทัย
3. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน: ประกอบด้วยการให้บริการลูกค้าภาคพื้น และการให้บริการในลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น ที่สนามบินสุวรรณภูมิ และที่สนามบินสมุย, การให้บริการครัวการบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ, การให้บริการคลังสินค้าระหว่างประเทศที่สนามบินสุวรรณภูมิ และที่สนามบินดอนเมือง
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BA เปิดเผยว่า บริษัทเล็งเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจการบินรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 58 คาดรายได้บริษัทเติบโตก้าวกระโดดแบบ Aggressive และอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ขึ้นไปแตะ 70% จากปี 57
อีกทั้ง คาดรายได้เติบโตใกล้เคียงเป้าหมาย 17-18% เช่นเดียวกับปี 55-56 ซึ่งปีที่แล้วมีรายได้รวม 2.07 หมื่นล้านบาท และ Cabin Factor เฉลี่ย 65% ต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อยตามภาพรวมอุตสาหกรรมการบิน ขณะที่จำนวนผู้โดยสารปีนี้น่าจะเติบโตตามเป้าที่ 5 ล้านคน เพิ่มจากปีก่อนที่มีจำนวนผู้โดยสาร 4.1-4.2 ล้านคน โดยสัดส่วนเป็นลูกค้าต่างประเทศราว 70-75%
สำหรับปลายปีนี้สายการบินบางกอกแอร์เวย์สจะมีพันธมิตรทำเที่ยวบินรหัสร่วม (Code Share) เพิ่มขึ้นอีก 3-4 ราย ได้แก่ การูด้าแอร์ไลน์ของอินโดนีเซีย, แอโรฟรอตของรัสเซีย, โคเรียนแอร์ของเกาหลี จากปัจจุบันบริษัทมีพันธมิตร Code Share จำนวน 14 ราย
ขณะเดียวกัน บริษัทมีแผนเปิดจุดบินใหม่ในจีน ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ คาดว่าจะเปิดได้ในปี 59 เพื่อดึงนักท่องเที่ยวจีนในเมืองใหญ่เข้ามาในไทยมากขึ้น