xs
xsm
sm
md
lg

PTG ผนึก 3 พันธมิตรร่วมทุน “ปาล์ม คอมเพล็กซ์” 4.8 พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พีทีจี เอนเนอยี” จับมือ 3 พันธมิตรผุดโครงการอุตสาหกรรมปาล์มคอมเพล็กซ์ที่ประจวบฯ มูลค่า 4.8 พันล้านบาท คาดว่าเริ่มผลิตได้ในปี 2560 มั่นใจแข่งสู้อินโดฯ-มาเลเซียได้ ก่อนเข็นบริษัทร่วมทุนดังกล่าวเข้าตลาดหุ้นเพื่อขยายการลงทุนในเฟส 2

นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอนเนอยี จำกัด (มหาชน) (PTG) เปิดเผยภายหลังการลงนามสัญญาร่วมทุนกับกลุ่มพันธมิตร 3 ราย ได้แก่ บริษัท ท่าฉางอุตสาหกรรม จำกัด บริษัท โอพีจีเทค จำกัด และบริษัท อาร์แอนด์ดี เกษตรพัฒนา จำกัด เพื่อตั้งบริษัทร่วมทุนดำเนินธุรกิจโครงการอุตสาหกรรมปาล์มครบวงจรแห่งแรกของไทย (โครงการปาล์ม คอมเพล็กซ์) บนพื้นที่ 1,000 ไร่ รวมมูลค่าการลงทุน 4.8 พันล้านบาท ที่อำเภอสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

โครงการอุตสาหกรรมปาล์มครบวงจรดังกล่าวนี้จะเริ่มตั้งแต่การคัดสรรเมล็ดพันธุ์ปาล์มที่ให้น้ำมันมากเพื่อทำสวนปาล์ม โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม โรงบรรจุน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภค โรงงานผลิตไบโอดีเซล (บี 100) และมีคลังเก็บน้ำมันอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทำให้ลดต้นทุนค่าขนส่ง ขณะเดียวกันก็นำน้ำเสียที่ได้จากกระบวนการผลิตมาหมักผลิตก๊าซชีวภาพ รวมทั้งทะลายปาล์มก็นำมาเผาผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในโรงงาน คิดเป็นกำลังผลิต 5-6 เมกะวัตต์ ทำให้มั่นใจว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งอย่างอินโดนีเซีย และมาเลเซียได้

สัดส่วนการร่วมทุนประกอบด้วย กลุ่มบริษัท ท่าฉางอุตสาหกรรม ถือหุ้น 45% พีทีจี เอนเนอยี 35% โอพีจีเทค 10% และอาร์แอนด์ดี เกษตรพัฒนา 10% โดยบริษัทร่วมทุนจะมีการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นบริษัท พีพีพี กรีน คอมเพล็กซ์ จำกัด เบื้องต้นจะมีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท หลังจากนั้นทยอยเพิ่มทุนตามการลงทุนจนครบ 1.6 พันล้านบาท โดยจะเป็นเงินลงทุนของพีทีจีฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้นเพียง 500 ล้านบาท ทำให้บริษัทไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนแต่อย่างใด

โครงการดังกล่าวมีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) 20% ซึ่งพันธมิตรร่วมทุนแต่ละรายต่างมีจุดแข็งในการทำธุรกิจที่ต่างกันนับตั้งแต่ต้นทางไปยังปลายน้ำ รวมทั้งการจัดจำหน่าย แต่มีเป้าหมายที่เหมือนกันคือต้องการยกระดับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มไทยให้ทัดเทียมตลาดโลก โดยโครงการนี้จะเริ่มก่อสร้างในต้นปี 2558 และแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งคอมเพล็กซ์ในปี 2560 มีกำลังการผลิตน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภค 200 ตัน/วัน และบี 100 กำลังผลิต 4.5 แสนลิตร/วัน สร้างรายได้ปีละ 7.5 พันล้านบาท

หลังจากเดินโครงการระยะหนึ่งก็มีแผนที่จะลงทุนเพิ่มในเฟส 2 อีกเท่าตัว โดยจะมีโครงการลงทุนใหม่เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม เช่น โอลีโอเคมิคอลส์ โดยบริษัทจะส่งเสริมการเพาะปลูกปาล์มให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงรัศมี 150 กม. และรับซื้อเพื่อใช้ในโครงการดังกล่าวด้วย สำหรับเงินลงทุนในการขยายการลงทุนเฟส 2 นี้มีแผนจะนำบริษัทร่วมทุนดังกล่าวเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นไทยด้วย

นายพิทักษ์กล่าวต่อไปว่า ปริมาณการผลิตบี 100 ในโครงการนี้จะป้อนให้พีทีจี เอนเนอยีทั้งหมด เนื่องจากมีความต้องการใช้บี 100 ในการผสมน้ำมันดีเซลจำนวนมากและจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากนโยบายการขยายจำนวนปั๊มน้ำมันพีทีให้มากกว่า 200 ปั๊ม/ปีจากปัจุบัน 920 แห่ง เชื่อว่าในปี 2560 จะมีปั๊มน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 พันปั๊มทั่วประเทศ

ด้านนายพงศ์นเรศ วนสุวรรณกุล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทท่าฉางอุตสาหกรรม(TGC) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจด้านโรงสกัดน้ำมันปาล์ม กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มบริษัทมีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม 3,600 ตัน/วัน และมีโรงไฟฟ้าชีวมวล 20 เมกะวัตต์ นับเป็นสิ่งที่ดีที่มีการรวมกลุ่มสำหรับผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มและที่เกี่ยวข้องจัดตั้งโครงการปาล์ม คอมเพล็กซ์ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มให้ทัดเทียมกับในภูมิภาคและตลาดโลกได้
กำลังโหลดความคิดเห็น