บมจ.วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์ ดีเดย์เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ 24 พ.ย.นี้ มูลค่าหลักทรัพย์รวม 2,538 ล้านบาท จากราคาไอพีโอหุ้นละ 2.70 บาท ผู้บริหารเผยนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปชำระคืนเงินกู้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในอนาคต
นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า บมจ.วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์ (VPO) จะเข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร หมวดธุรกิจการเกษตร ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 โดย VPO ดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบและผลพลอยได้ มีโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ 2 แห่ง ที่ จ.ชุมพร กำลังการผลิตรวม 180 ตันผลปาล์มทะลายต่อชั่วโมง และลงทุนในบริษัทย่อย 3 แห่ง ซึ่งดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกัน ได้แก่ ธุรกิจปลูกสวนปาล์มน้ำมัน ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวมวล และธุรกิจขนส่งน้ำมันปาล์มดิบและผลพลอยได้ นอกจากนี้ VPO ยังเป็นเป็น 1 ใน 3 อันดับต้นของผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มของประเทศไทย และสามารถส่งออกน้ำมันปาล์มดิบได้ด้วยช่องทางของตนเอง
ทั้งนี้ บมจ.วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์ มีทุนชำระแล้ว 940 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ประกอบด้วย หุ้นสามัญเดิม 800 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 140 ล้านหุ้น โดยเสนอขายหุ้น จำนวน 236 ล้านหุ้น ต่อประชาชนทั่วไป ในราคาหุ้นละ 2.70 บาท เมื่อวันที่ 14 และ 17-18 พ.ย. 57 มีมูลค่าระดมทุน 378 ล้านบาท มีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO เท่ากับ 2,538 ล้านบาท โดยมีบริษัทบริษัท เดอะ ควอนท์ กรุ๊ป จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
นายกฤษดา ชวนะนันท์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์ (VPO) เปิดเผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติ และยินดีอย่างยิ่งที่บริษัทฯ ได้เข้าจดทะเบียนใน ตลท. ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ และศักยภาพทางการเงินให้แข็งแกร่ง โดยจะนำเงินระดมทุนไปชำระคืนเงินกู้ยืมบางส่วน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการขยายธุรกิจของบริษัทฯ ในอนาคต
สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นหลังการระดมทุนครั้งนี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มครอบครัวชวนะนันท์ ถือหุ้น 75.53% น.ส.วิจิตรพรรณ คล้ายอุบล 0.43% กลุ่มครอบครัวสะสมทรัพย์ 0.42% ทั้งนี้ การกำหนดราคา IPO คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E Ratio ) 24.13 เท่า โดยคำนวณจากกำไรสุทธิตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2556 ถึงไตรมาส 3 ปี 2557 หารด้วยจำนวนหุ้นภายหลังการเสนอขายต่อประชาชนในครั้งนี้ (fully diluted) คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.11 บาท และหากเปรียบเทียบค่า P/E Ratio เฉลี่ยของ ตลท. 1 ปีย้อนหลัง (11 พฤศจิกายน 2556-10 พฤศจิกายน 2557) จะเท่ากับ 16.60 เท่า ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิจากงบเฉพาะกิจการ ภายหลังการหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินสำรองตามที่กฎหมายกำหนด