บอร์ดบีโอไอไฟเขียว “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี” (2558-2564) เน้นส่งเสริมการลงทุนที่มีคุณค่าต่อประเทศ และส่งผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมเห็นชอบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เริ่มใช้กับโครงการที่ขอรับส่งเสริมตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป
นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบ “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี” (พ.ศ. 2558-2564) ตามที่บีโอไอนำเสนอ โดยมีผลบังคับใช้สำหรับโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป
สำหรับนโยบายและหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ จะให้ความสำคัญต่อประเภทกิจการที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าต่อภาคอุตสาหกรรมและต่อประเทศเป็นหลัก เช่น กิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง กิจการเชิงสร้างสรรค์ กิจการหรือบริการเพื่อรองรับการพัฒนา Digital Economy กิจการที่พัฒนาจากทรัพยากรในประเทศ ดังนั้น การส่งเสริมการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ จะยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ตามเขตที่ตั้ง เหลือเฉพาะพื้นที่ที่มีรายได้ต่อหัวต่ำใน 20 จังหวัดเท่านั้น และการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มจากสิทธิพื้นฐานตามประเภทอุตสาหกรรม
สำหรับประเภทกิจการที่เคยอยู่ในบัญชีรายชื่อที่จะยกเลิกให้ส่งเสริม ที่ประชุมเห็นว่า บางประเภทกิจการยังมีความสำคัญต่อห่วงโซ่การผลิต และมีศักยภาพที่จะส่งเสริมให้เข้มแข็งมากขึ้นได้ จึงมิได้ยกเลิกให้ส่งเสริม แต่ได้ปรับเงื่อนไขในการให้ส่งเสริม เพื่อให้กิจการเหล่านั้นลงทุนเพิ่มเพื่อยกระดับการผลิตหรือการออกแบบ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น
“ประเภทกิจการที่จะให้ส่งเสริมยังมีจำนวนใกล้เคียงกับประเภทกิจการที่ให้ส่งเสริมในปัจจุบัน ประมาณ 200 กว่าประเภทกิจการ แต่จะแบ่งออกเป็นกิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้นิติบุคคล ประมาณ 180 กิจการ อีกประมาณ 50 กิจการจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านอากรนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี โดยจะมีการประกาศรายชื่อประเภทกิจการที่จะให้ส่งเสริมในเว็บไซต์บีโอไอต่อไป” นางหิรัญญากล่าว
ทั้งนี้ กิจการที่จะได้รับส่งเสริม จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเอ เป็นกิจการที่มีความสำคัญสูงต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและมีความจำเป็นต้องให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน และให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ ขณะที่กลุ่มบี เป็นกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนที่มีการใช้เทคโนโลยีไม่สูงนัก แต่ยังมีความสำคัญต่อห่วงโซ่มูลค่า โดยจะไม่ให้ได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่จะอำนวยความสะดวกผ่านสิทธิประโยชน์ด้านเครื่องจักร วัตถุดิบ และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี
ให้แต้มต่อ 38 กิจการเอสเอ็มอีไทย
นางหิรัญญากล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพื่อเพิ่มศักยภาพและความเข้มแข็งให้สามารถก้าวสู่ระดับสากลมากยิ่งขึ้น โดยจะเลือกเฉพาะ 38 ประเภทกิจการจากยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี มาเป็นกิจการที่จะให้ส่งเสริมภายใต้มาตรการเอสเอ็มอี ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นอีก 2 ปีจากเกณฑ์ปกติ เพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย และเพื่อเร่งรัดให้เกิดการลงทุนของกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ประชุมจึงกำหนดให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2560
คลอดนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขต ศก.พิเศษ
นางหิรัญญากล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยโครงการที่ลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5 พื้นที่ (จ.ตาก จ.ตราด จ.สระแก้ว จ.สงขลา จ.มุกดาหาร) หากเป็นกิจการที่ได้รับส่งเสริมภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 3 ปีจากเกณฑ์ปกติ