xs
xsm
sm
md
lg

ดร.สมคิดนำคณะลงพื้นที่ชลบุรี-ระยอง รับฟังปัญหาด้านการลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ พร้อมคณะเดินทางลงตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อหารือ และรับฟังปัญหารวมทั้งอุปสรรคทางการลงทุนของผู้ประกอบการในภาคตะวันออก ชี้ 2 ปัญหาใหญ่ใน จ.ชลบุรี คือ การจราจรที่แออัดจากการก่อสร้างโครงข่ายคมนาคม และปัญหาที่ยังตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับสัญญาเช่าที่ดินระหว่างนิคมฯ แหลมฉบัง และท่าเรือแหลมฉบัง ที่ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายหวั่นว่าสุดท้ายอาจต้องย้ายพื้นที่ลงทุน


วันนี้ (31 ต.ค.) ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยในช่วงเช้าได้เข้าประชุมเพื่อหารือ และรับฟังปัญหา รวมทั้งอุปสรรคทางการลงทุนของผู้ประกอบการในภาคตะวันออก ที่ห้องประชุมศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 4 (บีโอไอแหลมฉบัง) พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก

โดย นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน การบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง โดย นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหารือร่วมผู้ประกอบการเพื่อรับทราบปัญหาต่างๆ โดยมี นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ให้การต้อนรับ และเข้าร่วม

ดร.สมคิด กล่าวว่า การเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชลบุรี และระยองในครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับฟังปัญหา และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการว่าจะได้รับความสะดวกทางการลงทุนอย่างเต็มที่ ซึ่งหลังการเข้าร่วมประชุมก็ทำให้ทราบว่า ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของผู้ประกอบการในจังหวัดชลบุรี คือ การจราจรที่แออัดจากการก่อสร้างโครงข่ายคมนาคม ทั้งในส่วนท่าเรือแหลมฉบัง และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งเมื่อได้ฟังแล้วก็ทำให้มั่นใจว่า ประมาณเดือนมกราคมปีหน้าปัญหาด้านการจราจรของจังหวัดชลบุรี จะคลี่คลายลงหลังการก่อสร้างในหลายโครงการแล้วเสร็จ

ส่วนอีกเรื่องคือ สัญญาการเช่าที่ดินระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง และท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งการนิคมฯ ได้นำไปให้ผู้ประกอบการเช่าดำเนินงาน และขณะนี้สัญญาดังกล่าวใกล้หมดลง จึงทำให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนหวั่นว่าในอนาคตพื้นที่ในเขตส่งออก 1 ประมาณ 800 ไร่ อาจมีการปรับราคาค่าเช่าสูงขึ้นจนส่งผลกระทบให้ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ และสุดท้ายอาจต้องย้ายการลงทุน ซึ่งในเรื่องนี้จะให้ทั้ง 2 หน่วยงานกลับไปเจรจาร่วมกันอีกครั้ง คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้

“อีกเรื่องคือ การขยายเขตคลัสเตอร์ สู่การเป็นซูเปอร์คลัสเตอร์ ซึ่งขณะนี้ขั้นตอนต่างๆ ในการดำเนินงานทั้งของบีโอไอ และการนิคมฯ ใกล้จะเสร็จแล้ว ซึ่งก็จะทำให้นักลงทุนมีความพอใจ เพราะเราจะให้ความสำคัญต่อการลงทุนเพิ่มเติมในส่วนการวิจัย และการใช้เทคโนโลยีเพื่อต่อยอดการพัฒนาสินค้า ทั้งนี้ บีโอไอ และการนิคมฯ ก็จะเริ่มเชิญกลุ่มคลัสเตอร์ในแต่ละอุตสาหกรรมเข้ามาพูดคุยเพื่อให้ข้อมูล และรายละเอียด ในการประชุมใหญ่ที่จะมีขึ้นวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ และคิดว่าน่าจะเป็นไปด้วยดี” ดร.สมคิด กล่าว

ด้าน ดร.วีรพงษ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยว่า ทิศทางการลงทุนหลังจากนี้ กนอ.จะเน้นให้เกิดการลงทุนในรูปแบบการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม หรืออุตสาหกรรมคลัสเตอร์ตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งในนิคมฯ ใหม่ และนิคมฯ เดิมให้ครอบคลุมในพื้นที่จังหวัดชลบุรี และระยอง ซึ่งปัจจุบันยังมีพื้นที่ที่พร้อมรองรับนักลงทุนที่จะเข้ามาใหม่ โดยมีเป้าหมายมุ่งเน้นการลงทุนในรูปแบบของการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันนิคมอุตฯ มาบตาพุด ซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมฯ 5 แห่ง และท่าเรือมาบตาพุด 1 แห่ง มีพื้นที่ประกอบการ 10,215 ไร่ จำนวน 67 โรงงาน

ส่วนอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี มีเนื้อที่ทั้งหมด 3,556 ไร่ จำนวน 217 โรงงาน แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไปเขตประกอบการเสรี และพื้นที่สาธารณูปโภคอื่นๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการลงทุน การขนส่ง และการบริหารจัดการด้วยระบบลอจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน และในระยะต่อไปจะมีเป้าหมายในการพัฒนาเส้นทางการขนส่งทั้งในส่วนของสินค้า และแรงงานซึ่งจะนำระบบการขนส่งทางรางเข้ามาพัฒนาเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการการขนส่งในพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด และมาบตาพุดอีกด้วย

ขณะที่ นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดชลบุรี และระยอง มีกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนรวมแล้วกว่าแสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ บริการ และสาธารณูปโภค และมากกว่า 80% ของกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ โครงการที่ได้รับการส่งเสริมลงทุนในจังหวัดระยอง และชลบุรี มีสัดส่วนถึง 30% ของโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ

หน่วยงานเกี่ยวข้องขานรับนโยบายแก้ไขปัญหาจราจร

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง กล่าวถึงปัญหาการจราจรในพื้นที่เส้นทางที่จะเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งมีระยะทางประมาณ 7.3 กิโลเมตร ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งเดิมเส้นทางดังกล่าวมีเพียง 4 ช่องจราจร และมีจุดตัด 7 จุด และขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 88 % โดยขยายเป็น 14 ช่องจราจร เพื่อรองรับปริมาณรถเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้เนื่องจากในช่วงนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

แต่ที่บริเวณคอสะพานที่ยังเป็นคอขวดที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เนื่องจากมีการเบี่ยงรถทำให้รถเกิดการชะลอตัว แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนปีใหม่นี้ถนนจะแล้วเสร็จ 8 ช่องจราจร จะทำให้การจราจรคล่องตัวขึ้น และคาดว่าก่อนเดือนมีนาคม 2559 จะแล้วเสร็จทั้งสิ้น 14 ช่องจราจร

ส่วนประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นบริเวณคอสะพานนั้น กรมทางหลวงจะมีการเข้าไปแก้ไขปรับปรุงตรงจุดการเปลี่ยนรถที่เกิดการชะลอตัว จะให้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยจะมีเจ้าหน้าที่จะเข้าไปอำนวยความสะดวกให้ และพร้อมประสานกับจังหวัดชลบุรี เพื่อหาเส้นทางสายรองเพื่อเบี่ยงรถ และแบ่งปริมาณการจราจรให้คลี่คลายในช่วงระยะเวลา 2 เดือนนี้ไปก่อนก่อนที่ 8 ช่องจราจรจะแล้วเสร็จ

เช่นเดียวกับ นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ที่กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวจะต้องเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมทางหลวง กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี การท่าเรือแหลมฉบัง แขวงการทาง และเทศบาลนครแหลมฉบัง เพื่อร่วมสำรวจข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดอีกครั้งว่ามีปริมาณรถบรรทุกในแต่ละวันจำนวนเท่าไร เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และนำมาบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับรูปแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น ทุกหน่วยงานต้องช่วยกัน เช่น แขวงการทางและบริษัทผู้รับเหมาในการก่อสร้าง ต้องให้ความร่วมมือในการจัดทำป้ายบอกเส้นทาง กำหนดระยะเวลาในการก่อสร้างที่ชัดเจน ด้านกองบังคับการตำรวจภูธรภาค 2 ต้องนำเจ้าหน้าที่วิศวกรรมจราจรมากำหนดรูปแบบ และข้อกฎหมายมาบังคับใช้

ส่วนด้านเทศบาลนครแหลมฉบังนั้น จะต้องให้คำแนะนำว่ารถเล็ก หรือรถยนต์ส่วนตัวควรไปใช้เส้นทางหลักเส้นทางรองอย่างไร และในช่วงเวลาใด พร้อมต้องมีป้ายแนะนำเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดที่มาเที่ยวจังหวัดชลบุรี จะต้องหลบเลี่ยงเส้นทางไหน และไปใช้เส้นทางอื่นอย่างไรต่อไป

นายคมสัน กล่าวต่อไปว่า ปัญหาดังกล่าวทางจังหวัดจะต้องเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมเรื่องนี้โดยด่วนเพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นคลี่คลายไปในแนวทางที่ดีขึ้นในช่วงนี้ไปก่อน ก่อนที่เส้นทางดังกล่าวจะแล้วเสร็จในระดับหนึ่งในช่วงปีหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น