“พาณิชย์” ขยายไลน์หนูณิชย์พาชิมเป็นหนูณิชย์พาชอป เล็งจัดตลาดนัดวันศุกร์ทั่วประเทศ นำร่อง 3 พื้นที่กรุงเทพฯ ก่อนขยายไปต่างจังหวัด ประสานผู้ผลิตนำสินค้าราคาถูกไปจำหน่าย พร้อมเดินหน้าพัฒนาโชวห่วยรับมือเปิดเออีซี จับมือซีพีมอบทุนทายาทร้านค้านำความรู้ไปพัฒนาร้าน เผยโชวห่วยเริ่มปรับตัว หันขายของบุกตรงถึงผู้บริโภคมากขึ้น
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือมอบทุนค้าปลีกสำหรับบุตรหลานโชวห่วย เรียนที่ปัญญาภิวัฒน์ฯ ระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับสมาคมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุนไทยว่า ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัดในการขอพื้นที่จัดงานตลาดนัดวันศุกร์หรือถนนคนเดินทั่วประเทศตามโครงการ “หนูณิชย์พาชอป” โดยกระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับผู้ประกอบการในการนำสินค้ามาจำหน่ายในราคาถูกกว่าท้องตลาด เพื่อลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน เบื้องต้นจะนำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ 3 แห่งก่อน และจะเริ่มจัดงานได้ในช่วงต้นปี 2558
“กำลังขยายโครงการหนูณิชย์พาชิม ไปเป็นหนูณิชย์พาชอป เบื้องต้นจะนำสินค้าประเภทเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ไข่ไก่ เนื้อหมู เครื่องใช้ต่างๆ และร้านอาหารในโครงการหนูณิชย์พาชิม มาจำหน่ายในงานราคาถูก ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการและผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เพื่อนำร่องขอให้พื้นที่ว่างและมีการสัญจรสะดวก มีรถประจำทางผ่านใน 3 พื้นที่ก่อน จากนั้นจะขยายไปจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ”
น.ส.ชุติมากล่าวว่า สำหรับแนวทางในการให้ความช่วยเหลือร้านโชวห่วย เพื่อรองรับการแข่งขันการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับสมาคมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุนไทย เพื่อให้ความรู้แก่ร้านค้าและผู้ประกอบการค้าปลีกให้สามารถบริหารจัดการด้านต่างๆ ได้ รวมถึงการส่งเสริมการให้ความรู้แก่ทายาทของร้านค้าเพื่อนำแนวทางการบริหารสมัยใหม่ไปบริหารจัดการและพัฒนาร้านค้าเพื่อให้แข่งขันได้ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับสมาคมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุนไทย และ บมจ.ซีพี ออลล์ ในการมอบทุนการศึกษาแก่บุตรหลานร้านโชวห่วยปีละ 1,000 ทุน
นายสันติชัย สารถวัลย์แพทย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวในงานสัมมนา “ทำโชวห่วยให้รวยอย่างยั่งยืน” ว่า ขณะนี้ร้านค้าโชวห่วยรายย่อยมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น สามารถเอาตัวรอดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและสถานการณ์ที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง โดยหลายรายได้เปลี่ยนกลยุทธ์จากเดิมที่รอขายของในร้านค้าอย่างเดียว เป็นการเข้าถึงลูกค้าด้วยการนำสินค้าใส่รถกระบะไปขายตามหมู่บ้าน ตลาดนัด และยังมีการเปิดร้านเล็กๆ ตามแหล่งก่อสร้าง ซึ่งทำให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น