xs
xsm
sm
md
lg

อคส.เร่งเคลียร์หนี้ 2 หมื่นล้านให้ผู้ประกอบการ หลังค้างจ่ายมานานหลายปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประธานบอร์ด อคส.สั่งเร่งเคลียร์หนี้ ทั้งเงินค้ำประกัน ค่าเช่า ค่ารมยา ให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการแทรกแซงสินค้าเกษตรราว 2 หมื่นล้านบาทหลังจ่ายล่าช้ามาหลายปี ย้ำผู้ประกอบการไม่ต้องจ่ายอะไรทั้งสิ้น เจ้าหน้าที่ อคส.รายใดเรียกเงินใต้โต๊ะ หรือทุจริต ยันฟันไม่เลี้ยงแน่ พร้อมเดินหน้าทำ อคส.เป็นองค์กรปลอดทุจริต

นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (บอร์ด อคส.) เปิดเผยว่า อคส.มีภาระที่จะต้องคืนเงินค้ำประกันและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการแทรกแซงสินค้าเกษตรของรัฐบาล ไม่ต่ำกว่า 1,500 ราย รวมเป็นเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยขณะนี้ได้เร่งรัดการคืนเงินค้ำประกันให้ไปแล้ว 34 ราย คิดเป็นเงิน 321 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการพิจารณาคืนให้อีก 369 ราย คิดเป็นเงิน 369 ล้านบาท รวมทั้งยังได้คืนเงินค่าเช่าโกดัง คลังสินค้า ค่ารมยาสินค้าเกษตรในสต๊อกรัฐบาล ให้แก่ผู้ประกอบการแล้ว 1,140 ล้านบาท

“อคส.ตั้งเป้าจะคืนเงินค้ำประกันและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ราว 20,000 ล้านบาทให้แก่ผู้ประกอบการให้ได้ภายใน 4 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 5,000 ล้านบาท ซึ่งต้องขออนุมัติเงินงบประมาณจากรัฐบาล โดยในจำนวนหนี้ 20,000 ล้าน ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่ปี 2554/55 เป็นต้นมา ที่เหลือเป็นหนี้จากการแทรกแซงสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น มันสำปะหลัง และข้าวโพด เป็นต้น”

สำหรับสาเหตุการคืนเงินค้ำประกันล่าช้า แม้โครงการแทรกแซงสินค้าเกษตรต่างๆ สิ้นสุดไปแล้ว เป็นเพราะ อคส.ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเอกสารหลักฐานอย่างละเอียด จึงต้องใช้เวลานาน อีกทั้งผู้ประกอบการบางรายทำผิดสัญญากับ อคส. เช่น โรงสีบางรายเมื่อสีแปรสภาพข้าวเปลือกจากการรับจำนำเป็นข้าวสารแล้วส่งมอบให้ อคส.ล่าช้ากว่ากำหนดจึงต้องถูกปรับ แต่บางรายยังไม่ยอมเสียค่าปรับ อคส.จึงยังคืนเงินค้ำประกันไม่ได้

ส่วนที่ผ่านมา กรณีมีการร้องเรียนว่ามีเจ้าหน้าที่ อคส.ตุกติก เรียกรับเงินใต้โต๊ะจากผู้ประกอบการก่อนการคืนเงินค้ำประกัน ตนไม่ทราบ และไม่ขอพูดถึง แต่ขอยืนยันว่าจากนี้ไปผู้ประกอบการไม่ต้องจ่ายอะไรทั้งสิ้น ถ้าพบว่าเจ้าหน้าที่ อคส.เรียกเก็บเงินใต้โต๊ะ หรือมีการทุจริตแม้แต่บาทเดียวก็ต้องเอาโทษให้ถึงที่สุด ไม่ใช่แค่โทษทางวินัย ลดขั้น หรือหักเงินเดือนเท่านั้น แต่ต้องทำให้ไม่มีงานทำเลย และอยากให้ผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ อคส.เรียกเก็บเงินใต้โต๊ะแจ้งเบาะแสมาได้ที่ อคส. หรือที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569

นอกจากนี้ ยังได้สั่งให้ตั้งคณะทำงานเร่งรัดให้ลูกหนี้ที่ติดเงินกับ อคส.ให้มาเจรจาคืนหนี้โดยเร็ว โดยมียอดรวมประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเงินให้ยืม เงินให้กู้ สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเจรจาให้คืนหนี้ได้ราว 365 ล้านบาท

นางจินตนากล่าวว่า ได้ปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ดูแลคลังสินค้าที่เก็บสินค้าเกษตรในสต๊อกรัฐบาลได้แบบเรียลไทม์ และข้อมูลของทุกคลังสินค้าจะเชื่อมต่อถึงกันหมดเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริต จากเดิมที่ใช้ระบบมือกรอกข้อมูลต่างๆ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้ได้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และล่าช้า โดยล่าสุดมีสินค้าของรัฐบาลเก็บไว้ใน 1,420 คลัง ใน 50 จังหวัดทั่วประเทศ

“การปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ใหม่จะทำให้เราทราบข้อมูลสินค้าในทุกคลังสินค้าได้ทันที เช่น ถ้ากดเข้าไปดูคลังสินค้าที่ จ.ราชบุรี จะรู้ว่ามีกี่คลัง แต่ละคลังมีข้าวปริมาณเท่าไร คุณภาพเป็นอย่างไร มีใครดูแล ซึ่งได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ประจำคลังส่งข้อมูลเข้าส่วนกลางก่อน 10 โมงเช้าทุกวัน จากนั้นเจ้าหน้าที่ในส่วนกลางจะประมวลข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์ก่อน 5 โมงเย็นทุกวัน”

ส่วนข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลในความดูแลของ อคส. ล่าสุดมีประมาณ 13 ล้านตัน ในจำนวนนี้มีภาระผูกพัน 500,000 ตัน ยังเหลือที่ขายได้อยู่อีกราว 12.5 ล้านตัน

สำหรับกรณีสินค้าเกษตรในสต๊อกรัฐบาลที่ อคส.ดูแล ทั้งข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หากมีการสูญหาย ตนในฐานะประธานบอร์ด อคส.จะไม่ปล่อยปละละเลยแน่นอน แต่จะแจ้งความดำเนินคดี และได้สั่งการเจ้าหน้าที่ อคส.ไปแล้วว่า ทุกคดีให้ส่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หมด เพราะถือว่าสินค้าเกษตรเหล่านั้นเป็นทรัพย์สินของหลวง และต้องมีคนรับผิดชอบ ซึ่ง อคส.จะต้องดำเนินการตามนโยบายของ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการให้หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงพาณิชย์ปลอดการทุจริต หรือซีโรคอร์รัปชัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า สาเหตุที่ อคส.คืนเงินค้ำประกันให้โรงสีล่าช้า ส่วนหนึ่งมาจากเจ้าหน้าที่ อคส.บางรายเรียกเก็บใต้โต๊ะ โดยหากผู้ประกอบการรายใดไม่ยอมจ่ายเงินใต้โต๊ะให้ ก็จะไม่ได้รับการคืนเงินค้ำประกันให้ แต่รายใดต้องการได้เงินค้ำประกันคืนก็ต้องยอมจ่าย โดยเงินค้ำประกันดังกล่าว อคส.จะเรียกเก็บจากโรงสีที่เข้าร่วมโครงการบางรายในอัตราสูง เช่น 5% ของมูลค่าข้าวที่รับจำนำ
กำลังโหลดความคิดเห็น