“พาณิชย์” กำลังศึกษาหน่วยงานดูแล พ.ร.บ.แพ่งและพาณิชย์ในส่วนของการค้ำประกันและจดจำนอง หลังกฤษฎีกาใส่ให้เป็นเจ้าภาพหลัก เผยหากไม่ได้ก็พร้อมเป็นคนกลางในการดูแลกฎหมาย แต่ไม่ใช่การเข้าไปเกี่ยวข้องกับเจ้าหนี้ ลูกหนี้ เหตุกรณีมีปัญหาก็มีขั้นตอนปกติดำเนินการอยู่แล้ว
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์กำลังหารือเป็นการภายในว่าจะดำเนินการอย่างไร หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านกฎหมาย พ.ร.บ.แพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่องการค้ำประกันและจดจำนอง และในการแก้ไขกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้กำหนดให้รัฐมนตรีพาณิชย์เป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย ซึ่งในทางปฏิบัติกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ ไม่เหมือนกับการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัทจำกัด
“กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายกลาง ตอนร่างกฎหมาย กฤษฎีกาเห็นว่ากฎหมายจะต้องมีเจ้าภาพดูแล และเห็นว่าพาณิชย์ดูแลในส่วนของการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ก็เลยใส่ให้พาณิชย์ดูแลในส่วนของการปรับปรุงแก้ไขในส่วนของการค้ำประกันและการจดจำนองด้วย แต่พอมาดูเห็นว่าไม่น่าจะเกี่ยวกับพาณิชย์ เลยต้องหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะยังมีเวลาอีกกว่า 2 เดือนที่กฎหมายจะบังคับใช้” นางอภิรดีกล่าว
ทั้งนี้ พ.ร.บ.แพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่องค้ำประกันและจดจำนอง จะมีผลบังคับใช้วันที่ 7 ก.พ. 2558 โดยเป็นกฎหมายที่ปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้การปกป้องผู้ค้ำประกันเงินกู้มากขึ้น ไม่ให้เจ้าหนี้ไปไล่เบี้ยกับผู้ค้ำประกัน ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ไปค้ำประกันหนี้ให้แก่คนอื่น แต่ในทางกลับกันก็มีปัญหาเกิดขึ้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์จะปล่อยกู้ได้ยากขึ้น เพราะต้องตรวจสอบว่าลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้จริง เพราะไม่สามารถไปทวงกับผู้ค้ำประกันได้ทันที และยังมีปัญหาถึงการค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์ให้กับนักลงทุนรายใหญ่ที่เข้าไปรับงานโครงการรัฐ
น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า หากกฎหมายเขียนให้กระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของกรมฯ ในการดูแลตามกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายความว่ากรมฯ จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกรณีมีปัญหาระหว่างเจ้าหนี้ ลูกหนี้ การค้ำประกัน หรือการจดจำนองอะไรต่างๆ เพราะเป็นเรื่องในทางปฏิบัติระหว่างเจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือกรณีมีการฟ้องร้อง ก็เป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย แต่กรมฯ จะเข้าไปเกี่ยวข้อง กรณีที่หากจะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย หรือออกระเบียบปฏิบัติภายใต้กฎหมาย ก็จะใช้อำนาจของกรมฯ ในการยกร่างขึ้นมา และประกาศบังคับใช้