พพ.เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตโซลาร์ฟาร์ม 178 รายยืนยันสิทธิ์ผลิตไฟเข้าระบบ ธ.ค. 58 ภายใน 28 พ.ย.นี้ในระบบ FiT อัตรา 5.66 บาทต่อหน่วย เวลา 25 ปี ด้าน รพ.ยันฮีจ่อเสนอผลิต 61 เมกะวัตต์ ลงทุน 4 พันล้านบาท มั่นใจความพร้อม
นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยหลังการชี้แจงและเจรจาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ว่า พพ.ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการผลิตไฟจากแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ (โซลาร์ฟาร์ม) จำนวน 178 ราย กำลังการผลิตทั้งสิ้น 1,073 เมกะวัตต์ (MW) ยืนยันสิทธิ์การรับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง หรือ Feed in Tariff (FiT) ในอัตรา 5.66 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 25 ปี ภายใน 28 พ.ย. 2557 เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) รับทราบต่อไป
“มติ กพช. ช่วง ส.ค. 2557 ให้เปิดรับซื้อไฟจากโซลาร์ฟาร์มอีก 576 เมกะวัตต์เพื่อให้เต็มเป้าหมายที่กำหนดไว้ 2,000 เมกะวัตต์ โดยปรับจากระบบรับไฟฟ้าส่วนเพิ่มหรือ Adder เป็น FiT ต่อมา กพช. เมื่อ 22 ต.ค. 57 กำหนดให้เพิ่มการรับซื้อไฟจากโซลาร์ฟาร์มเดิม 576 เมกะวัตต์เพิ่มอีก 800 เมกะวัตต์ ซึ่งก็จะคัดจากที่เสนอมาซึ่งกำหนดให้อยู่ในสถานที่เดิมและให้ตกลงได้ภายในสิ้นปี 57 หากไม่ได้ก็ถือเป็นอันยุติและต้องจ่ายไฟเชิงพาณิชย์เข้าระบบภายใน ธ.ค. 58 ทาง พพ.จึงต้องมาเปิดให้เอกชนยืนยันสิทธิ์ที่เคยขอไว้นานแล้วแต่ยังไม่ได้มีการอนุมัติ” นายธรรมยศกล่าว
ทั้งนี้ ผลดังกล่าวจะทำให้การรับซื้อไฟจากโซลาร์ฟาร์มรวมเป็น 2,800 เมกะวัตต์ โซลาร์รูฟท็อป 200 เมกะวัตต์ และโซลาร์ราชการและสหกรณ์การเกษตรอีก 800 เมกะวัตต์ รวมเป็น 3,800 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (ปี 58-79) ที่กำลังปรับใหม่จะต้องมาพิจารณาว่าจะรับซื้อไฟจากพลังงานทดแทนมากน้อยเพียงใด ซึ่งต้องคำนึงถึงค่าไฟ ระบบสายส่ง เป็นต้น
นายทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ระบบ FiT ในระยะยาวจะมีส่วนสำคัญต่อการดูแลค่าไฟฟ้าที่จะไม่ให้สูงเกินไปเพราะมีระยะเวลา 25 ปี ซึ่งเริ่มต้นค่าไฟอาจแพงกว่าค่าไฟเฉลี่ย แต่เมื่อถึงปี 65 จะเป็นจุดตัดที่ค่าไฟเท่ากัน หลังจากนั้นก็จะเฉลี่ยต่ำกว่า
นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลยันฮี กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลพร้อมที่จะยืนยันสิทธิ์การลงทุนโซลาร์ฟาร์มที่เตรียมไว้จำนวน 61 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยพื้นที่จะอยู่ที่บางเลน จ.นครปฐม อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี และ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา โดยก่อนหน้าได้ลงทุนไปแล้ว 2 เฟส กำลังผลิต 34 เมกะวัตต์ และ 57 เมกะวัตต์ ซึ่งมั่นใจว่าระยะเวลาที่รัฐให้และอัตรารับซื้อไฟแบบ FiT เป็นสิ่งที่เหมาะสม