ไทย-พม่าเตรียมสานต่อความร่วมมือด้านพลังงาน โดยเวทีการเจรจาระดับปลัดของทั้งสองฝ่ายจะมีขึ้นวันที่ 10 มิ.ย.นี้ พร้อมถกเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ “มายตง” 6,000 เมกะวัตต์ คลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ และซื้อขายไฟป้อนเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลไทย และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) ยังคงที่จะสานต่อความร่วมมือด้านพลังงานโดยวันที่ 10 มิ.ย.นี้จะมีการหารือในระดับปลัดของทั้งสองฝ่ายเพื่อเดินหน้าตามแผนความร่วมมือซึ่งก่อนหน้านี้ที่ไทยได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับพม่าด้านพลังงานที่มีสาระสำคัญในความร่วมมือทั้งด้านปิโตรเลียม และไฟฟ้า
“หลังจากที่รัฐบาลพม่ามีการเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางรัฐบาลไทยก็ได้สอบถามถึงความร่วมมือที่เคยตกลงก่อนหน้านี้ซึ่งทางพม่าก็พร้อมที่จะสานต่อความร่วมมือกับไทยในเรื่องของพลังงานโดยเฉพาะโครงการผลิตไฟฟ้ามายตงเพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงทั้งสองประเทศ” รมว.พลังงานกล่าว
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ระดับปลัดของไทยและพม่าจะหารือร่วมกันภายใต้การประชุม MTJWC (Myanmar-Thailand Joint Working Committee) วันที่ 10 มิ.ย.นี้ เพื่อสานต่อความร่วมมือด้านพลังงานที่สำคัญที่จะได้เจรจาต่อ ได้แก่ การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำมายตง กำลังการผลิตประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ โครงการคลังก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจีลอยน้ำ (FSRU) รวมถึงการซื้อขายไฟฟ้าปริมาณ 100 เมกะวัตต์ เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าเยาม่า ที่ร่างกุ้ง เป็นต้น
“พม่ามีการปรับโครงสร้างหน่วยงานกระทรวงพลังงานใหม่หลังจากมีการเลือกตั้งแล้ว และเราได้ทำหนังสือเชิญไปเพื่อที่จะมาหารือความร่วมมือโดยเฉพาะด้านไฟฟ้าไทยมี MOU ในการรับซื้อจากพม่า โดยแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP-2015 จะซื้อ 15-20% ของกำลังผลิตรวมซึ่งขณะนี้การซื้อไฟเฉลี่ยเพียง 10%” นายอารีพงศ์กล่าว
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า เดิมโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำมายตง ที่พม่ามีขนาดกำลังการผลิต 7,000 เมกะวัตต์ แต่เนื่องจากปริมาณน้ำมีค่อนข้างมากหากทำเขื่อนเดียวรองรับจะกระทบวงกว้างจึงมีการปรับมาสร้างเขื่อนตอนบนและตอนล่างเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าที่จะมี 2 ส่วน ส่วนแรกจะมีกำลังการผลิต 3,500 เมกะวัตต์ และส่วนที่ 2 กำลังการผลิต 2,500 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตสูงสุดขณะนี้คงจะอยู่ราว 6,000-6,300 เมกะวัตต์
นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ความร่วมมือด้านพลังงานกับพม่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนพีดีพีเพื่อกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงที่ไทยพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติมากเกินไป ส่วนการขายไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายนั้นจะมีการหารือในการวางระบบสายส่งเพื่อที่จะเชื่อมจาก จ.กาญจนบุรีไปยังทวาย โดยรายละเอียดคงจะต้องรอการหารืออีกครั้ง