xs
xsm
sm
md
lg

อั้นไว้! พรุ่งนี้เบนซิน-โซฮอล์ลด 60 สต.-ดีเซล 30 สต./ลิตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ค่าการตลาดพุ่งปรี๊ดทะลุ 2 บาทต่อลิตร ล่าสุด “ปตท.” แจ้งไม่เป็นทางการเตรียมปรับราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ลง 60 สตางค์ต่อลิตร ดีเซล 30 สตางค์ต่อลิตร เว้นอี85 คงเดิม มีผล 8 พ.ย. “พรายพล” ผู้ช่วย รมว.พลังงานย้ำให้ผู้ค้าตัดสินใจเอง แถมแย้มข่าวดีน้ำมันปีหน้าตลาดโลกทิศทางขาลงจะส่งผลดีต่อค่าไฟในปีหน้าลดตาม
 



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์เฉลี่ยสูงกว่า 2 บาทต่อลิตร โดยเฉพาะเบนซิน 95 ค่าการตลาดสูงถึง 3.48 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 2.53 บาทต่อลิตร เป็นต้น ขณะที่ดีเซลอยู่ที่ 1.65 บาทต่อลิตร ดังนั้นล่าสุด ปตท.ได้แจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่าจะลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ลง 60 สตางค์ต่อลิตร ดีเซลลง 30 สตางค์ต่อลิตร ส่วนแก๊สโซฮอล์อี85 ไม่เปลี่ยนแปลงเหตุราคาเอทานอลสูงกว่าน้ำมัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย.เป็นต้นไป

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานเสวนาบทบาทกระทรวงพลังงานต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนซึ่งจัดโดย บมจ.เอกรัฐวิศวกรรม ว่า ขณะนี้น้ำมันที่ลดลงส่งผลให้ค่าการตลาดของผู้ค้าเริ่มสูงขึ้นนั้นก็อยู่ที่ผู้ค้าน้ำมันจะตัดสินใจเปลี่ยนแปลงราคาเพราะรัฐบาลไม่ได้เข้าไปแทรกแซงอะไร แต่ในแง่ของการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไม่คงจะต้องรอนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)

นอกจากนี้ ทิศทางระดับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกได้ปรับตัวลดลง และมีการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปี 2558 จะลดต่ำกว่าปีนี้จะมีผลให้อัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft ปีหน้ามีโอกาสปรับลดลงตาม เนื่องจากราคาน้ำมันดิบจะผูกติดกับราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยย้อนหลังประมาณ 6 เดือน ขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสของภาครัฐที่จะสามารถปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบได้ง่ายและเร็วขึ้น

“ค่าไฟฟ้าที่ผ่านมาเฉลี่ยของไทยเองก็ขึ้น 1-2% ต่อปี ก็ถ้าไม่มีวิกฤตน้ำมันแพงก็คงไม่หนีไปจากนี้มาก แต่ปีหน้าน่าจะมีโอกาสเห็นลดลงมากกว่าด้วยซ้ำเพราะน้ำมันดิบที่ผูกติดกับก๊าซในอ่าวไทยจะลดลง ซึ่งไทยพึ่งก๊าซฯ ผลิตไฟสูง 70% แต่ก็คงต้องติดตามปัจจัยอื่นๆ เช่นค่าเงิน” นายพรายพลกล่าว

สำหรับการส่งเสริมพลังงานทดแทนนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันกำหนดเป็น 25% ของการใช้พลังงานรวมภายใน 20 ปี ซึ่งคงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้ามากนักเพราะขณะนี้เทคโนโลยีต่างๆ เริ่มพัฒนาดีขึ้นกว่าอดีตมากและต้องมองระยะยาว โดยขณะนี้รัฐกำหนดอัตราการรับซื้อไฟฟ้าที่สะท้อนต้นทุนหรือ Feed in Tariff (FIT) เพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทน ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ 5.66 บาทต่อหน่วยแล้ว ส่วนชนิดอื่นๆ อยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ภายในเดือน พ.ย.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น