ปัญหาพลังงานในประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เนื่องจากแหล่งปิโตรเลียมในประเทศนับวันจะลดน้อยถอยลงจนมีการคาดการณ์ว่าปริมาณสำรองจะเหลือใช้อีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า หากไม่เร่งเปิดสัมปทานให้ภาคเอกชนเข้ามาสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในเร็วๆ นี้ ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากภาคประชาชน ขณะที่การจัดหาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าก็ทำได้ยากขึ้น ทางออกจึงพุ่งเป้าไปที่การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศที่มีราคาสูงมากเมื่อเทียบกับราคาก๊าซฯ ในอ่าวไทย
ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับมวลชนในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ แทนก๊าซธรรมชาติที่นับวันจะมีราคาสูงขึ้น โดยยอมรับว่า การตั้งโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้ถ่านหิน หรือโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่เกิดขึ้นไม่ได้เพราะแรงต้านจากสังคม ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ
เกิดได้แต่โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงที่รัฐเปิดให้เอกชนเข้าประมูล (ไอพีพี) จนสัดส่วนโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ เพิ่มขึ้นถึง 70% หากปล่อยให้สถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้เชื่อว่าในอนาคตค่าไฟฟ้าถีบตัวสูงขึ้นไปเรื่อยๆ สุดท้ายภาคการผลิตอยู่ไม่ได้ต้องย้ายฐาน ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ลามไปถึงรากหญ้า
เมื่อเร็วๆ นี้ กฟผ.ได้นำสื่อมวลชนศึกษาดูงานกิจการโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่สหพันธรัฐเยอรมนี พร้อมรับฟังความคิดเห็นการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงอยู่ร่วมกับชุมชนโดยไม่มีปัญหา เนื่องจากเยอรมนีเป็นประเทศที่นวัตกรรมด้านพลังงาน มีเทคโนโลยีและอุปกรณ์ด้านพลังงานระดับแนวหน้าของโลก ทำให้ กฟผ.เลือกอุปกรณ์เครื่องยนต์กังหัน เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซีเมนส์ ในการทำโรงไฟฟ้าวังน้อย 4 จ.พระนครศรีอยุธยา
นอกจากนี้ เยอรมนีมีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนติดตั้งสูงถึง 7 หมื่นเมกะวัตต์ แม้จะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงสุด 8.45 หมื่นเมกะวัตต์ได้ ในอนาคตเยอรมนีมีแผนที่จะส่งเสริมการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้นเพื่อแทนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะปิดตัวลงหลังหมดอายุไปโดยไม่มีการสร้างขึ้นใหม่
แต่ด้วยข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียนทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังลมไม่คงที่ พบว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเยอรมนีจ่ายไฟได้น้อยตลอดช่วงฤดูหนาว 4 เดือน (ต.ค.-ก.พ.) เหลือเพียง 1 หมื่นเมกะวัตต์จากเดิมสูงถึง 2 หมื่นเมกะวัตต์ ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังลมจ่ายไฟไม่คงที่เช่นกัน ดังนั้นเยอรมนียังต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ โดยประเทศมีปริมาณสำรองถ่านหินจำนวนมากถึง 3.8 พันล้านตัน เพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้าได้นานถึง 500 ปี
ปัจจุบันเยอรมนีมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งถึง 1.75 แสนเมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน 4.93 หมื่นเมกะวัตต์ นิวเคลียร์ 1.2 หมื่นเมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าก๊าซฯ 2.8 หมื่นเมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังลม 3.46 หมื่นเมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3.74 หมื่นเมกะวัตต์ ไบโอแมส 7.53 พันเมกะวัตต์ และพลังน้ำ 5.60 พันเมกะวัตต์
เมื่อเทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าแล้วพบว่าเยอรมนีมีสำรองไฟฟ้าเกิน 50%
จากการเยี่ยมชมกิจการโรงไฟฟ้าถ่านหิน Mainova HKV West และโรงไฟฟ้าถ่านหินNiederausseem พบว่าเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ที่อยู่ใกล้ชุมชน เดินเครื่องผลิตไฟฟ้ามานานกว่า 10 ปีขึ้นไป โดยมีการปล่อยมลพิษทางอากาศที่ต่ำกว่ามาตรฐานทำให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ได้
โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน Niederausseem มีกำลังการผลิตรวม 3,680 เมกะวัตต์ มีการใช้ถ่านหินปีละ 30 ล้านตัน พบว่าโรงไฟฟ้ายูนิตล่าสุด มีกำลังผลิต 965 เมกะวัตต์ ก็เดินเครื่องจักรมาแล้ว 10 ปี เป็นการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด การปล่อยมลพิษน้อยทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (So2) ฝุ่นละอองต่างๆ ทำให้ไม่มีปัญหาจากชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้า ล่าสุดโรงไฟฟ้ายังอยู่ระหว่างการศึกษาและทำโครงการนำร่องที่จะลดการปล่อย CO2 ให้เหลือน้อยที่สุด
นอกจากนี้ โรงไฟฟ้ายังทำความเข้าใจกับชุมชน มีการประชาสัมพันธ์ผ่านเอกสารให้กับชุมชนในพื้นที่ ทำให้รู้ข้อมูลต่างๆ ของโรงไฟฟ้า รวมทั้งยังมีเงินสนับสนุนความช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ กับชุมชน และดึงคนในพื้นที่เข้าร่วมงานในโรงไฟฟ้าด้วย ซึ่งถือเป็นการเพิ่มกระบอกเสียงสนับสนุนโรงไฟฟ้าด้วยอีกทางหนึ่ง รวมทั้งชุมชนเองยังได้ประโยชน์จากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่โรงไฟฟ้าจะต้องเสียให้กับรัฐในการพัฒนาประเทศและชุมชนด้วย
ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Neuhardenberg Solar Park ขนาดกำลังผลิต 145 เมกะวัตต์ ถือว่าใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ ใช้พื้นที่สนามบินเดิมในการติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนจริง (ฟีดอินทรารีฟ) ในอัตรา 7 บาท/หน่วย
นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า โรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน ยูนิต 4-7 มีการนำเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดมาใช้เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เยอรมนี แต่มีประสิทธิภาพดีกว่าเนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าใหม่กว่า เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ 800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพา จ.สงขลา 2 ยูนิต ยูนิตละ 1,000 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นประชาชน หากพบว่ามีเทคโนโลยีใดที่จะลดมลพิษให้เหลือน้อยที่สุดก็พร้อมที่จะลงทุนเพิ่มเติม
โดยต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินนำเข้าอยู่ที่ 3.10 บาท/หน่วย ต่ำกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ ที่มีต้นทุน 3.50-4 บาท/หน่วย ส่วนพลังงานหมุนเวียนทั้งลมและแสงอาทิตย์มีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยอยู่ที่ 6 บาท และ 9 บาท/หน่วย (ไม่รวมแอดเดอร์) ดังนั้น การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระบบมากยิ่งขึ้น จะทำให้โครงสร้างค่าไฟฟ้าของไทยสูงขึ้นตามไปด้วย คงต้องถามกลับว่าคนไทยพร้อมที่จะจ่ายค่าไฟฟ้าแพงได้หรือไม่
ปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ 2.7 หมื่นเมกะวัตต์ โตขึ้น 3% หรือเฉลี่ยต้องมีโรงไฟฟ้าเข้าระบบปีละ 700 เมกะวัตต์ และการสร้างโรงไฟฟ้าความเร็วสูง ทำให้ต้องสร้างโรงไฟฟ้ารองรับมากขึ้น แต่สิ่งที่ กฟผ.กังวลว่าหากโรงไฟฟ้าใหม่ภาคใต้ไม่เกิดขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้โตสูงถึง 8-10% ต่อปี จะมีปัญหาไฟดับใน 5 ปีข้างหน้า ทำให้ต้องเร่งเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และโรงไฟฟ้า อ.เทพา ซึ่งตามแผนงานจะแล้วเสร็จ 5 ปี จ่ายไฟเข้าระบบได้ในปลายปี 2562 และปี 2565 ตามลำดับ
แต่หากโรงไฟฟ้ากระบี่แล ะอ.เทพา เกิดขึ้นไม่ได้ ก็คงซื้อไฟจากต่างประเทศมากขึ้น หรืออาจจใช้ LNG ในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งสุดท้ายก็จะกระทบค่าไฟฟ้าต้องขยับขึ้นไปเป็น 5-7 บาท/หน่วย
นายรัตนชัยกล่าวว่า อัตราค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนของไทยประมาณ 4 บาท/หน่วย และภาคอุตสาหกรรมจะต่ำกว่านี้ เมื่อเทียบกับเยอรมนีแล้วถูกกว่ามาก โดยอัตราค่าไฟเยอรมนีภาคครัวเรือนอยู่ที่ 13 บาท/หน่วย และขายไฟให้ภาคอุตสาหกรรมถูกกว่าอยู่ที่ 6.4 บาท/หน่วย
หากพิจารณาสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าแยกตามประเภทเชื้อเพลิง พบว่าไทยมีการใช้ก๊าซฯ ถึง 68% หรือคิดเป็น 2.39 หมื่นเมกะวัตต์ รองลงมาคือ พลังงานหมุนเวียนคิดเป็น 17% หรือ 5.86 พันเมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังน้ำในไทยเอง 3.43 พันเมกะวัตต์ ที่เหลือเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว 2.10 พันเมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ที่แม่เมาะคิดเป็น 7% หรือ 2.40 พันเมกะวัตต์ ถ่านหินนำเข้า 2.37
พันเมกะวัตต์ หรือ 7% ที่เหลือเป็นการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันเตา ดีเซล และรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซีย
ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ปี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 มีนโยบายชัดเจนที่จะลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติลงเหลือ 56% โดยจะเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินและพลังงานหมุนเวียน แต่ต้องเข้าใจว่าพลังงานหมุนเวียนไม่สามารถนำมาเป็นพลังงานไฟฟ้าหลักได้เพราะมีข้อจำกัด และต้นทุนสูง ทางออกจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น ซึ่งภาครัฐก็ให้ กฟผ.เป็นผู้ดำเนินการ
ส่วนการจะเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ได้หรือไม่นั้น นับเป็นบทพิสูจน์ความสามารถของ กฟผ.ว่าจะสร้างความเชื่อมั่น ความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่ได้หรือไม่ และล้างภาพลบเดิมของโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะที่เป็นฝันร้ายของ กฟผ.มานานนับสิบปี ถือเป็นงานหนักที่ต้องฝ่าไปให้ได้ โดยนำบทเรียนโรงไฟฟ้าเยอรมนีมาใช้เพื่อให้โรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างไว้เนื้อเชื่อใจกัน