เอกชนเกาะติดค่าไฟ ค่าแรงงาน และการบริการด้านสื่อสารของไทย ชี้หากคุมไม่อยู่ปล่อยให้พาเหรดขึ้นต่อเนื่องจะเป็นแรงขับให้ภาคการผลิตหันซบเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น หนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผวาค่าแรงเริ่มฮึ่มขอขึ้นแล้ว แนะควรสะท้อนกลไก ศก.
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในการเสวนาเพื่อสื่อมวลชน ประจำปี 2557 ในหัวข้อ “อุตสาหกรรมไทย…ผู้นำในอาเซียน” ว่า เอกชนกำลังติดตาม 3 ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อต้นทุนการผลิตในอนาคตได้แก่ ค่าไฟฟ้า ค่าแรงงาน และการบริการด้านการสื่อสาร (communication) ซึ่งหากรัฐบาลไม่สามารถดูแลปัจจัยดังกล่าวได้จะมีผลต่อการเคลื่อนย้ายการลงทุนบางส่วนไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นให้เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ กรณีค่าไฟฟ้าที่ปัจจุบันอยู่ประมาณ 3.96 บาทต่อหน่วยนั้นหากไทยยังคงพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าเป็นหลักและไม่สามารถนำเชื้อเพลิงที่ต้นทุนต่ำมาเกลี่ยค่าไฟได้ เช่น ถ่านหิน และนิวเคลียร์ ในระยะกลางและยาวค่าไฟก็จะมีทิศทางเพิ่มขึ้นแน่นอนเพราะก๊าซฯ ในอ่าวไทยจะทยอยหมดลงต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศที่มีราคาแพงกว่าที่ไทยผลิตเอง ซึ่งหากค่าไฟขึ้นไประดับ 5 บาทต่อหน่วยในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าเอกชนก็คงจะรับไม่ไหว
“ค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันขณะนี้เราเองก็เห็นว่าควรจะยืนระดับดังกล่าวไปก่อน เพราะขณะนี้เริ่มมีการเรียกร้องเพิ่มค่าแรงแล้วทั้งที่ค่าแรงดังกล่าวรัฐบาลกำหนดใช้ไปจนถึงปลายปี 2558 และเห็นว่าอนาคตควรให้สะท้อนตามกลไกเศรษฐกิจและรัฐไม่ควรแทรกแซงเช่นเดียวกับระบบการสื่อสารที่เวลานี้เราเองก็มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้แพงพอสมควรและยังไม่ดีเท่าที่ควรนัก ซึ่งเอกชนไทยจะต้องเน้นการผลิตที่เป็นนวัตกรรม และรัฐเองจะต้องให้ความสำคัญต่อการจดสิทธิบัตรด้านนี้ให้มากเพื่อที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมให้เข้มแข็ง” นายสุพันธุ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในเวทีอาเซียนไทยถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญโดยเฉพาะอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และอาหาร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารรัฐบาลควรจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษเพราะมีอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ต่อเนื่องที่เป็นคนไทยโดยแท้จริง วัตถุดิบก็ใช้ในประเทศ ซึ่งขณะนี้อุตสาหกรรมอาหารมีการส่งออกสูงถึงกว่า 900,000 ล้านบาทต่อปี ปริมาณส่งออกปีละกว่า 2 ล้านตัน
ส่วนการที่ปีหน้าจะสิ้นสุดมาตรการลดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 7% อัตราจัดเก็บจะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดที่ 10% นั้น เรื่องดังกล่าวรัฐบาลน่าจะพิจารณาความเหมาะสมด้วย เพราะหากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่ง ส.อ.ท.เชื่อเช่นนั้น การที่ภาษีมูลค่าเพิ่มจะเพิ่มขึ้นก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย แต่ถ้าหากภาพรวมเศรษฐกิจเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม เศรษฐกิจซบเซา ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 10% ก็จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยมีปัญหาได้ สิ่งนี้รัฐบาลต้องพิจารณา อีกทั้งควรให้การช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ขณะนี้ยังมีปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น